โครงการแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะชนิดรุนแรง
เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา
ชมรมภริยาทูตฯบริจาค3.2ล. ผ่าตัดเด็กพิการใบหน้า80ราย
ที่มา มติชน วัน พุธ ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10693
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ จุฬาลงกรณ์ และชมรมภริยาทูตประจำประเทศไทย จัดแถลงข่าว โครงการแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะชนิดรุนแรง เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา
นพ.จรัญ มหาทุมะรัตน์ หัวหน้าศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ในประเทศไทยมีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะในเด็กพบประมาณ 1 ต่อ 700 ราย ขณะที่โรคงวงช้าง พบประมาณ 1 ต่อ 5,000 ราย และโรคความพิการที่มีรอยเชื่อมของกะโหลกศีรษะติดเร็วกว่าปกติพบประมาณ 1 ต่อ 30,000 ราย ความพิการดังกล่าวเป็นความทุกข์ทรมานที่ต้องใช้เวลารักษานาน และค่าใช้จ่ายสูงมากโดยเฉลี่ยประมาณ 40,000 บาทต่อราย และไม่ใช่ว่าการรักษาเพียงครั้งเดียวจะหายทันที
นพ.จรัญกล่าวว่า ความพิการของใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มีผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจ อีกทั้งยังก่อปัญหาด้านสังคมให้แก่ผู้ป่วยและครอบครัว ปัจจุบันการรักษาโรคดังกล่าวต้องอาศัยเครื่องมือพิเศษ อาทิ เครื่องมือยึดกระดูกใบหน้า (Distrator) เพื่อให้ใบหน้าได้รูป แผ่นยึดกระดูกและสกรูแบบละลายได้ เครื่องมือดังกล่าวมีราคาค่อนข้างแพงประมาณ 2-4 แสนบาท ซึ่งต้องทำการรักษาในผู้ป่วยแต่ละรายนานประมาณ 3 เดือน อย่างไรก็ตาม โรคงวงช้าง ซึ่งเป็นอาการที่มีรูโหว่ของกะโหลกศีรษะ ส่วนหน้าตรงตั้งจมูก ทำให้ส่วนของสมอง น้ำหล่อสมองไหลออกมาเป็นถุง จนดูคล้ายงวงช้าง ซึ่งถือเป็นโรคที่รักษายากที่สุด
ที่ผ่านมาแพทย์ต้องรักษาโดยการผ่าตัดเปิดกะโหลก เพื่อแก้ไขรูที่รั่ว จากนั้นค่อยเลื่อนกระบอกตา ซึ่งเป็นวิธีที่ค่อนข้างยุ่งยาก และยังทำให้สมองบอบช้ำง่าย ปัจจุบันมีเทคนิคที่เรียกว่า จุฬาเทคนิค มาใช้ผ่าตัดโรคงวงช้าง โดยไม่ต้องเปิดกะโหลก แต่เปิดบริเวณดั้งจมูกให้เป็นรูปตัวที ซึ่งจะทำให้สมองบอบช้ำน้อย และเสียเลือดน้อย ที่ผ่านมาได้ทำการรักษามาแล้ว จำนวน 250 ราย ทุกรายมีอาการดีขึ้น และยังได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นานาชาติ นพ.จรัญกล่าว และว่า โรคเหล่านี้มักเกิดในคนจนกว่าร้อยละ 99 เนื่องจากเมื่อมารดาตั้งครรภ์ไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ ประกอบกับเมื่อป่วยก็ไปซื้อยามารับประทานเอง แม้กระทั่งป่วยเป็นไข้หวัดก็ตาม ทางที่ดีเมื่อป่วยควรพบแพทย์ดีที่สุด นอกจากนี้ การรับสารพิษ สารเคมีต่างๆ ก็มีส่วน ซึ่งสาเหตุจริงยังไม่มีใครทราบ ส่วนสำคัญอาจมาจากยีนของมารดาหรือบิดาก็เป็นได้ สิ่งสำคัญเมื่อเริ่มตั้งครรภ์ต้องดูแลตัวเองให้ดี การบริโภคอาหารก็ต้องถูกสุขลักษณะ น้ำดื่มต้องสะอาด โดยเฉพาะช่วงตั้งครรภ์ 4-12 สัปดาห์ ต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ
ล่าสุด สภากาชาดไทยร่วมกับศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าฯ และชมรมภริยาทูตประจำประเทศไทย จัดโครงการดังกล่าวเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา โดยให้มีการผ่าตัดผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะชนิดรุนแรงจำนวน 80 ราย ในระยะเวลา 2 ปี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาใดๆ เนื่องจากชมรมภริยาทูตประจำประเทศไทยได้บริจาคเงินจำนวน 3.2 ล้านบาท เพื่อช่วยรักษาผู้ป่วยดังกล่าว
ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติบนใบหน้า และกะโหลกศีรษะยังมีอีกจำนวนมาก หากต้องการร่วมบริจาคสามารถติดต่อได้ที่ 0-2256-4330 หรือโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย ชื่อบัญชี ผู้ป่วยพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ จุฬาลงกรณ์ เลขที่ 045-5033292