เลี้ยงเด็กด้วยทฤษฎีพหุปัญญา ฉลาดมิติสัมพันธ์

Spread the love
hb75839a.jpg

การเสริมสร้างความฉลาดด้านมิติสัมพันธ์ เพื่อให้พวกเขามีจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ช่วยสนับสนุนภาวะทางอารมณ์ของลูกน้อย

ความฉลาดด้านร่างกาย และการเข้าใจธรรมชาติก็ว่าสำคัญแล้วสำหรับการเรียนรู้ของลูกน้อย แต่วันนี้มีอีกสิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ทุกคนต้องปลูกฝังให้พวกเขาอีกเช่นกัน นั่นก็คือการเสริมสร้างความฉลาดด้านมิติสัมพันธ์ เพื่อให้พวกเขามีจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ช่วยสนับสนุนภาวะทางอารมณ์ของลูกน้อยได้อย่างดี

“มิติสัมพันธ์” คือ การรับรู้ตำแหน่งของสิ่งต่าง ๆ เมื่อเทียบกับจุดใดจุดหนึ่งผ่านประสาทสัมผัสทางการมองเห็น เช่น ถ้าใช้ตัวเด็กเป็นหลัก สิ่งที่อยู่รอบตัวเด็กก็จะมีตำแหน่ง เช่น หน้า หลัง บน ล่าง ซ้าย ขวา เป็นต้น

“ความฉลาดด้านมิติสัมพันธ์” คือความสามารถในการสร้างภาพในสมอง ความสามารถในการจินตนาการสร้างภาพต่าง ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น สถาปนิกสร้างภาพตึก หรือเมืองขึ้นจากจินตนาการ ความสามารถในการอ่านแผนที่ แผนภูมิ ความสามารถในด้านจินตนาการ สร้างสรรค์ ฯลฯ

เด็กกลุ่มนี้มักเรียนรู้ผ่านการมองเห็นหรือใช้ภาพ การพัฒนาความสามารถด้านนี้เพื่อให้เด็กๆสามารถเชื่อมโยงภาพภายในจิตใจ และสามารถถ่ายทอดออกมาให้ผู้อื่นรับรู้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ความสามารถด้านนี้จะพบได้บ่อยในกลุ่มศิลปินวาดภาพ หรือ ผู้ที่ชอบสื่อสารด้วยภาพ

วิธีส่งเสริมความฉลาดด้านมิติสัมพันธ์

-ถ้าเป็นเด็กเล็ก พยายามให้เด็กได้เห็นวัตถุต่างๆในหลายรูปแบบ หลายสี หลายขนาด ฯลฯ เช่น โมบายล์ ของเล่นที่มีสีสัน ฯลฯ

-คอยกระตุ้นชี้ชวนให้เด็กๆสังเกตสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวในเรื่องที่พวกเขาสนใจหรือทำอยู่ พร้อมทั้งพูดเล่าให้เด็กฟัง เพื่อให้เด็กเชื่อมโยงสิ่งที่เห็นกับที่ได้ยิน เช่น ถ้าเด็ก ๆ กำลังเล่น “รถ” อาจชวนไปดูรถ “เราไปดูด้านหน้ารถกัน” “ไหนลองไปดูด้านข้างสิ” “ไปดูด้านหลังรถด้วย” “รถคันใหญ่” “รถสีขาว” “ล้อกลมๆ” ฯลฯ นอกจากจะช่วยส่งเสริมความฉลาดด้านมิติสัมพันธ์แล้ว ยังเป็นการฝึกการสังเกต การคิด วิเคราะห์ ไปพร้อม ๆ กัน

-ในเด็กโต อาจถามคำถามเด็กที่เกี่ยวข้องกับเรื่องมิติสัมพันธ์ เช่น เวลาไปซื้อของ “ของชิ้นนี้จะใส่ในถุงใบนี้ได้หรือไม่” การผูกเชือกรองเท้า ฯลฯ

ตัวอย่างการเล่นเพื่อส่งเสริมความฉลาดด้านมิติสัมพันธ์

1.การต่อบล็อกไม้ วางไว้ในตำแหน่งต่างๆ หรือการเล่นเลโก้ซึ่งมีสีแตกต่างกันชัดเจน จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ด้านมิติสัมพันธ์ได้เร็วขึ้น เพราะจะช่วยให้เด็ก ๆ สังเกตเห็นความแตกต่างได้ง่ายขึ้น

2.การต่อจิ๊กซอว์ โดยเลือกขนาดและจำนวนชิ้นที่เหมาะสมกับวัย

3.การวาดภาพ เป็นการฝึกทักษะด้านมิติสัมพันธ์ให้กับเด็กได้เป็นอย่างดี และส่งเสริมจินตนาการของเด็กด้วย ยิ่งถ้าเด็ก ๆ ได้รับการส่งเสริมอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยให้พวกเขาสามารถถ่ายทอดออกมาได้ดีและชัดเจนมากขึ้น

4.การเล่นเกมอ่านแผนที่ง่ายๆ เช่น เริ่มจากแปลนในบ้านก่อนก็ได้ เล่นสืบสวน หรือหาของที่ซ่อนไว้

5.การถ่ายภาพ