เนื้อนาที่ไม่เกิดบุญ

Spread the love

ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์
ภาคหนึ่ง ผู้ชี้ขุมทรัพย์
หมวดที่ ๒
ว่าด้วยการไม่สังวร ๑๕ เรื่อง

____________

เนื้อนาที่ไม่เกิดบุญ

ภิกษุ ท. ! ช้างหลวงประกอบด้วยองค์ห้า เป็นช้างไม่คู่ควรแก่พระราชา
ไม่เป็นราชพาหนะได้ ไม่นับว่าเป็นของคู่บารมีของพระราชา. องค์ห้าอะไรเล่า ?
องค์ห้าคือ ช้างหลวงในกรณีนี้ เป็นช้างที่ไม่อดทนต่อรูปทั้งหลาย, ไม่อดทน
ต่อเสียงทั้งหลาย, ไม่อดทนต่อกลิ่นทั้งหลาย, ไม่อดทนต่อรสทั้งหลาย,
ไม่อดทนต่อโผฏฐัพพะทั้งหลาย.

ภิกษุ ท. ! ช้างหลวงที่ไม่อดทนต่อรูปทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ ช้างหลวงเมื่อออกศึก ได้เห็นหมู่พลช้างก็ดี, หมู่พลม้าก็ดี,
หมู่พลรถก็ดี, หมู่พลราบก็ดี, (ของฝ่ายข้าศึก) แล้ว ก็ระย่อ ห่อหด ถดถอยเสีย
ไม่อาจจะเข้าสู่ที่รบ. ภิกษุ ท. ! ช้างหลวงอย่างนี้ชื่อว่า ไม่อดทนต่อรูปทั้งหลาย.

ภิกษุ ท. ! ช้างหลวงที่ไม่อดทนต่อเสียงทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ ช้างหลวงเมื่อออกศึก ได้ยินเสียงหมู่พลช้างก็ดี, หมู่พล
ม้าก็ดี, หมู่พลรถก็ดี, หมู่พลราบก็ดี, ได้ยินเสียงกึกก้องแห่งกลอง
บัณเฑาะว์ สังข์และมโหระทึกก็ดี, แล้วก็ระย่อ ห่อหด ถดถอยเสีย ไม่อาจ
จะเข้าสู่ที่รบ. ภิกษุ ท. ! ช้างหลวงอย่างนี้ชื่อว่า ไม่อดทนต่อเสียงทั้งหลาย.

ภิกษุ ท. ! ช้างหลวงที่ไม่อดทนต่อกลิ่นทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ ช้างหลวงเมื่อออกศึก ได้กลิ่นมูตรและกรีส (ปัสสาวะ
และอุจจาระ) ของช้างทั้งหลาย ชนิดที่เป็นชั้นจ่าเจนสงครามเข้าแล้ว ก็ระย่อ
ห่อหด ถดถอยเสีย ไม่อาจจะเข้าสู่ที่รบ. ภิกษุ ท. ! ช้างหลวงอย่างนี้ชื่อว่า
ไม่อดทนต่อกลิ่นทั้งหลาย.

ภิกษุ ท. ! ช้างหลวงที่ไม่อดทนต่อรสทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ ช้างหลวงเมื่อออกศึก เมื่อไม่ได้รับการทอดหญ้า
และน้ำมื้อหนึ่งหรือสองมื้อ สามมื้อ สี่มื้อ หรือห้ามื้อ แล้วก็ระย่อ ห่อหด
ถดถอยเสีย ไม่อาจจะเข้าสู่ที่รบ. ภิกษุ ท. ! ช้างหลวงอย่างนี้ชื่อว่า
ไม่อดทนต่อรสทั้งหลาย.

ภิกษุ ท. ! ช้างหลวงที่ไม่อดทนต่อโผฏฐัพพะทั้งหลาย เป็นอย่างไร
เล่า ? ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ ช้างหลวงเมื่อออกศึก ถูกศรที่เขายิงมา
อย่างเร็วกะทันหันเข้าหนึ่งลูก หรือสองลูก สามลูก สี่ลูก หรือห้าลูกแล้ว
ก็ระย่อ ห่อหด ถดถอยเสีย ไม่อาจจะเข้าสู่ที่รบ. ภิกษุ ท. ! ช้างหลวงอย่างนี้
ชื่อว่า ไม่อดทนต่อโผฏฐัพพะทั้งหลาย.

ภิกษุ ท. ! ฉันใดก็ฉันนั้นเหมือนกัน : ภิกษุ เมื่อประกอบด้วยเหตุ
ห้าอย่างแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่ควรแก่ของบูชา ไม่ควรแก่ของต้อนรับ
ไม่ควรแก่ของทำบุญ ไม่ควรทำอัญชลี ไม่เป็นเนื้อนาบุญของโลก
อย่างดีเยี่ยม. เหตุห้าอย่างอะไรกันเล่า ? เหตุห้าอย่างคือ ภิกษุในกรณีนี้
เป็นผู้ไม่อดทนต่อรูปทั้งหลาย, ไม่อดทนต่อเสียงทั้งหลาย, ไม่อดทน
ต่อกลิ่นทั้งหลาย, ไม่อดทนต่อรสทั้งหลาย, ไม่อดทนต่อโผฏฐัพพะทั้งหลาย.

ภิกษุ ท. ! ภิกษุ เป็นผู้ไม่อดทนต่อรูปทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ได้เห็นรูปด้วยตาแล้ว ติดใจยินดีในรูปอันเป็นที่ตั้ง
แห่งความกำหนัดยินดี ไม่อาจจะตั้งจิตเป็นกลางอยู่ได้. ภิกษุ ท. !
ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่า ไม่อดทนต่อรูปทั้งหลาย.

ภิกษุ ท. ! ภิกษุ เป็นผู้ไม่อดทนต่อเสียงทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ได้ฟังเสียงด้วยหูแล้ว ติดใจยินดีในเสียงอันเป็น
ที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดี ไม่อาจจะตั้งจิตเป็นกลางอยู่ได้. ภิกษุ ท. ! ภิกษุ
อย่างนี้ชื่อว่า ไม่อดทนต่อเสียงทั้งหลาย.

ภิกษุ ท. ! ภิกษุ เป็นผู้ไม่อดทนต่อกลิ่นทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ได้ดมกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ติดใจยินดีในกลิ่นอันเป็น
ที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดี ไม่อาจจะตั้งจิตเป็นกลางอยู่ได้. ภิกษุ ท. ! ภิกษุ
อย่างนี้ชื่อว่า ไม่อดทนต่อกลิ่นทั้งหลาย.

ภิกษุ ท. ! ภิกษุ เป็นผู้ไม่อดทนต่อรสทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ได้ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ติดใจยินดีในรสอันเป็นที่ตั้ง
แห่งความกำหนัดยินดี ไม่อาจจะตั้งจิตเป็นกลางอยู่ได้. ภิกษุ ท. ! ภิกษุอย่างนี้
ชื่อว่า ไม่อดทนต่อรสทั้งหลาย.

ภิกษุ ท. ! ภิกษุ เป็นผู้ไม่อดทนต่อโผฏฐัพพะทั้งหลาย เป็นอย่างไร
เล่า ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ได้สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ติดใจ
ยินดีในโผฏฐัพพะอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดี ไม่อาจจะตั้งจิตเป็นกลาง
อยู่ได้. ภิกษุ ท. ! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่า ไม่อดทนต่อโผฏฐัพพะทั้งหลาย.

ภิกษุ ท. ! ภิกษุ เมื่อประกอบด้วยเหตุห้าอย่างนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่ควร
แก่ของบูชา ไม่ควรแก่ของต้อนรับ ไม่ควรแก่ของทำบุญ ไม่ควร
ทำอัญชลี ไม่เป็นเนื้อนาบุญของโลกอย่างดีเยี่ยมเลย.

_______________

ปญฺจก. อํ. ๒๒/๑๗๖/๑๓๙,