พระผู้พระราชทานกำเนิด เมื่อ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) มีกรณีพิพาท ระหว่าง ประเทศสยาม กับฝรั่งเศส เรื่องดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ได้ทวีความรุนแรงจนถึงมีการสู้รบ เป็นเหตุให้ทหารบาดเจ็บล้มตายมาก ไม่มีองค์การกุศล ทำหน้าที่ช่วยเหลือ พยาบาลบรรเทาทุกข์อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงษ์ ได้ดำเนินการชักชวนและรวบรวมสตรีอาสาสมัครขึ้น และได้ทำบันทึกกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ขอให้นำความขึ้น กราบบังคมทูล พระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ตั้ง “สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม” ขึ้นเพื่อปฏิบัติการ บรรเทาทุกข์ทหารที่บาดเจ็บ เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสว่า เป็นความคิดอันดีตามแบบอย่างประเทศที่เจริญแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ และพระบรมราชานุญาตให้เรี่ยไรได้เงินถึง ๔๔๓,๗๑๖ บาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนมหาศาลในสมัยนั้น กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ทรงเป็น”สภาชนนี” สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง)ทรงเป็น”สภานายิกา” และท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงษ์ เป็นเลขานุการิณีสภาอุณาโลมแดง
นับว่าท่านผู้หญิงเปลี่ยน เป็นสตรีที่ทันสมัย มีความคิดริเริ่ม เฉลียวฉลาดมีความสามารถ ในด้านต่าง ๆ ในสมัยนั้นอย่างยิ่งท่านหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า ท่านเป็นผู้ที่ได้ ริเริ่ม กิจการกาชาดขึ้น เป็นคนแรกในประเทศสยาม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า เป็นความคิดที่ต้องด้วยแบบอย่าง อารยประเทศที่ เจริญแล้วทั้งหลาย จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง “สภาอุณาโลมแดง” ขึ้น ในวันที่ ๒๖ เมษายน ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) ซึ่งถือเป็นวันสถาปนา สภากาชาดไทย
พระบาทสมเด็จพระมงกฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงดำรงตำแหน่งพระยุพราชเสด็จ กลับจากการศึกษา ในประเทศอังกฤษผ่านมาทางประเทศญี่ปุ่น ได้เสด็จทอดพระเนตรโรงพยาบาลของกาชาดญี่ปุ่น ทำให้ทรงพระดำริว่า ถ้าได้จัดโรงพยาบาลของกาชาดขึ้นในเมืองไทย ก็จะเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง ฉะนั้น เมื่อ สมเด็จพระราชบิดา เสด็จสู่ สวรรคาลัย พระองค์จึงได้ร่วมกับพระราชภราดาภคินี ทรงบริจาคทรัพย์รวมกับทุนของสภาอุณาโลมแดงที่มีอยู่ สร้างโรงพยาบาลขึ้นในที่ดินส่วนพระองค์ แล้วโปรดเกล้าฯ ขนานนามตามพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร มหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “โรงพยาบาล จุฬาลงกรณ์” เพื่อเป็นอนุสรณ์ ในพระราชบิดา ให้โรงพยาบาลนี้ เป็นของสภากาชาดสยาม เมื่อ พ.ศ. 2457 ชื่อสภาอุณาโลมแดง และสภากาชาดนี้ เรียกปะปนกันตลอดมา แต่เมื่อ พ.ศ. 2453 ชื่อสภาอุณาโลม แดงก็สูญไป คงใช้กันแต่ สภากาชาดสยาม หรือสภากาชาดไทย ตามชื่อประเทศ ซึ่งเปลี่ยนจาก สยามเป็นไทย มาจนบัดนี้
ส่วนการรับรอง ระหว่างประเทศ คณะกรรมการกาชาดระหว่าง ประเทศ ได้รับรองสภากาชาดไทย เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2463 และ สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือน แดงระหว่างประเทศ (เดิมคือ สันนิบาตสภากาชาด) ได้รับเข้า เป็นสมาชิก เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2464
เว็บไซต์www.redcross.or.th/
บริจาค