ว่าด้วยเรื่องพราหมณ์ผู้เป็นลุงของพระสารีบุตรเถรเจ้า

Spread the love
พระไตรปิฎกมหาวิตถารนัย ๕,๐๐๐ กัณฑ์
คัมภีร์ขุททกนิกาย พระธรรมบท
ว่าด้วยเรื่องพราหมณ์ผู้เป็นลุงของพระสารีบุตรเถรเจ้า


มาเส มาเสติ อิมํ ธมฺมเทสนํ สตฺถา เวฬุวเน วิหรนฺโต สาริปุตฺตตฺเถรสฺส มาตุลพฺราหฺมณํ อารพฺภ กเถสีติ.

ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้แสดงเรื่องพราหมณ์ ผู้เป็นลุงของพระสารีบุตรเถรเจ้า ตามคัมภีร์พระธรรมบท สืบต่อไป เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา และพุทธศาสนิกชนทั้งหลายตามสมควรแก่เวลา

เรื่องพราหมณ์ผู้เป็นลุงของพระสารีบุตรเถรเจ้า

ดำเนินความตามคัมภรีพระธรรมบทว่า เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่พระเวฬุวนาราม ทรงปรารภพราหมณ์ผู้เป็นลุงของพระสารีบุตรเถรเจ้า ให้เป็นต้นเหตุ จึงตรัสพระธรรมเทศนาอันนี้ไว้ว่า มาเส มาเส ดังนี้

ดังได้สดับมาว่า พระเถรเจ้าไปหาพราหมณ์ผู้นั้น แล้วถามว่า พราหมณ์ ท่านทำกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่หรือ? พราหมณ์ก็ตอบว่า ข้าพเจ้าได้ทำอยู่ ฯ พระเถรเจ้าจึงว่า ก็ท่านทำกุศลอะไรอยู่ฯ พราหมณ์ก็ตอบว่า ข้าพเจ้าสละทรัพย์ให้เป็นทานเดือนละ ๑ พัน ทุกเดือนไปฯ พระเถรเจ้าจึงถามว่า ท่านให้ทานแก่ใคร? พราหมณ์ตอบว่า ให้ทานแก่พวกกนิครนถ์ฯ พระเถรเจ้าถามว่า ก็ทางนี้เป็นทางพรหมโลกหรือ? พราหมณ์ตอบว่า จ้ะ เป็นทางพรหมโลกฯ พระเถรเจ้าจึงว่า ใครบอกอย่างนี้? พราหมณ์ตอบว่า พวกอาจารย์ของข้าพเจ้าบอกฯ พระเถรเจ้าจึงว่า ท่านก็ไม่รู้จักทางพรหมโลก พวกอาจารย์ของท่านก็ไม่รู้จัก พระศาสดาพระองเดียวเท่านั้นทรงรู้จัก มาเถิดพราหมณ์ เราจะให้พระศาสดาทรงบอกทางพรหมโลกให้แก่ท่าน แล้วก็นำพราหมณ์นั้นไปเฝ้าพระศาสดา กราบทูลแจ้งเหตุนั้นว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พราหมณ์ผู้นี้ว่าอย่างนี้พระเจ้าข้า แล้วกราบทูลว่า ขอพระองค์จงทรงบอกทางพรหมโลกให้แก่พราหมณ์คนนี้ด้วยเถิดฯ สมเด็จพระชินศรีศาาสดาจึงตรัสถามว่า ได้ยินว่าพราหมณ์กล่าวอย่างนี้หรือ เมื่อพราหมณ์กราบทูลว่า ถูกแล้วพระโคดม จึงตรัสว่าพราหมณ์ การแลดูสาวกของเราด้วยจิตเลื่อมใสเพียงครู่เดียว หรือให้ข้าวเพียงทัพพีเดียวแก่สาวกของเรา ด้วยจิตอันเลื่อมใส ก็ยังมีผลมากกว่าทานที่เธอผู้ให้อยู่ด้วยอาการอย่างนี้ผู้ให้อยู่ตลอด ๑๐๐ ปี ดังนี้ แล้วเมื่อจะทรงแสดงธรรมสืบต่อข้อความจึงตรัสพระคาถานี้ว่า มาเส มาเส สหสฺเสน เป็นนต้น ซึ่งมีคำแปลว่า ผู้ใดบูชาด้วยทรัพย์เดือนละแสนตลอด ๑๐๐ ปี ผู้ใดบูชาผู้ที่อบรมตนแล้วเพียงคนเดียว ชั่วเวลาครู่เดียว การบูชานั้นของผู้นั้นยังดีกว่า การบูชาตลอด ๑๐๐ ปีไม่ดีเลย ดังนี้

ในคำเหล่านั้น คำว่า ด้วยทรัพย์ตั้งพัน คือ ด้วยการบริจาคทรัพย์ตั้งพันฯ คำว่าผู้ใดบูชาเสมอตลอด ๑๐๐ ปี คือ ผู้ใดสละทรัพย์ตั้งพันออกให้ทานแก่โลกิยมหาชนทุกเดือน อยู่ตลอด ๑๐๐ ปีฯ คำว่า ผู้อบรมตนแล้วเพียงคนเดียว คือผู้ใดบูชาผู้ที่มีตนอันเจริญแล้วด้วยอำนาจแห่งคุณธรรมเพียงคนเดียว คืออย่างต่ำบูชาพระโสดาบัน อย่างสูงบูชาพระขีณาสพ ผู้ไปถึงประตูบ้านเรือนด้วยการให้ข้าวเพียงทัพพีเดียว หรือด้วยการให้อาหารพอเลี้ยงร่างกาย หรือการให้ผ้าเนื้อหยาบ การบูชาใดที่บุคคลนอกนี้บูชาอยู่ตลอด ๑๐๐ ปี การบูชานั้นแหละดีกว่า คือประเสริฐกว่าสูงกว่าการบูชาอย่างอื่น ดังนี้

ในเวลาจบเทศนาลง พราหมณ์ผู้นั้นก็ถึงโสดาปัตติผล บุคคลอื่นเป็นอันมากก็ถึงโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล จบเร่องพราหมณ์ผู้เป็นลุงของพระสารีบุตรเถรเจ้าเพียงเท่านี้

เนื้อความในพระคาถานี้ว่า ผู้ใดบริจาคทรัพย์ให้เป็นทานแก่โลกิยมหาชนเดือนละพันอยู่ตลอด ๑๐๐ ปี การบริจาคทานแก่ผู้อบรมตนดีแล้ว คือบริจาคทานแก่ผู้มีคุณธรรมดี มีพระโสดาบันเป็นอย่างต่ำ มีพระอรหันต์เป็นอย่างสูง เพียงใส่บาตรด้วยข้าวทัพพีเดียว หรือเพียงถวายอาหารพอฉันอิ่มหนึ่ง หรือเพียงถวายผ้าเนื้อหยาบสักผืน ๑ เท่านั้น ก็ยังมีผลมากกว่าให้ทานแก่โลกิยมหาชน ด้วยสละทรัพย์เดือนละพัน อยู่ตลอด ๑๐๐ ปีนั้น ดังนี้ เพื่อจะให้เนื้อความข้อนี้แจ่มแจ้ง จึงจักได้ยกเอาเรื่องแห่งผู้ถวายปัจจัย ๔ แล้วได้รับความสุขมาแสดงต่อไป ตามสมควรแก่เวลา

อตีเต พาราณสีวาสี เอโก กุฏุมฺพิโก อรญฺเญว จรนฺโต กล่าวคือ เรื่องที่จะยกมาแสดงนี้เป็นเรื่องพระเจ้านันทราช และเรื่องหญิงขัดสนคนหนึ่ง ซึ่งได้ถวายจีวรแก่ท่านผู้ได้อบรมตนดีแล้ว ในอรรถกถาแห่งสังสารโมจกเปตวัตถุว่า ในอดีตกาลล่วงแล้วมา มีกุฏุมพีคนหนึ่ง ซึ่งอยู่ที่เมืองพาราณสี เมื่ออกไปเที่ยวป่าได้เห็นผ้าอนุวาตยังไม่พอของพระปัจเจกโพธิซึ่งจะกระทำจีวรอยู่ ก็ได้ถวายผ้าขาวของตนฯ กุฏุมพีนั้นได้เกิดในดาวดึงส์ด้วยบุญกุศลอันนั้น ได้เสวยทิพยสมบัติอยู่จนตลอดอายุ แล้วจุติจากดาวดึงส์สวรรค์ลงมาเกิดในตระกูลอำมาตย์ ในนี่ไกลจากกรุงพาราณสี ๑ โยชน์ เวลาเติบโตแล้วก็ได้บอกมารดาในวันมีนักขัตฤกษ์ว่า ขอมารดาจงให้ผ้านุ่งแก่ข้าพเจ้าๆ จักไปเล่นนักขัตฤกษ์ฯ มารดาก็ผ้าใหม่ผืนหนึ่ง เมื่อบุตรตอบว่า ผ้านี้เนื้อหยาบ ก็ให้ผืนอื่นฯ บุตรก็ปฏิเสธผืนนั้นอีกฯ มารดาจึงบอกว่า ลูกเอ๋ย ผ้าที่เนื้อละเอียดว่านี้ไม่มีอยู่ในบ้านเรือนของเราแล้วฯ จึงบอกมารดาวา ข้าพเจ้าจักไปยังที่จะได้ผ้าฯ มารดาจึงว่าลูกเอ๋ย มารดาอยากให้เจ้าได้ราชสมบัติในกรุงพาราณสีในวันนี้แหละฯ กุมารนั้นก็ไหว้มารดาว่า ดีแล้วมารดา แล้วบุญกุศลที่เขาได้กระทำไว้ในชาติเป็นกุฏุมพีนั้นก็เตือนใจ เขาก็ได้ออกเดินทางไปที่กรุงพาราณสี และเข้าไปนอนคลุมศีรษะอยู่ที่พระแท่นศิลาในพระราชอุทยานฯ ก็วันนั้นเป็นวันที่ ๗ ที่พระเจ้าพาราณสีได้สวรรคตไปแล้วฯ คนทั้งหลายมีอำมาตย์เป็นต้น ถวายพระเพลิงศพพระเจ้าพาราณสีแล้วก็ปรึกษากันว่า พระรชามีแต่พระราชธิดาองค์เดียว ไม่มีพระราชโอรสเลย ราชสมบัติที่ไม่มีพระราชย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ เมื่อจะปล่ยบุษยรถไป ก็ให้เทียมม้าสินธพสีดอกบัวขาว ๔ ตัวแล้วยกเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้ง ๕ ขึ้นวางบนรถ แล้วก็ปล่อยรถไปฯ รถได้ออกทางประตูตะวันออก เข้าไปสู่สวนอุทยานกระทำปทักษิณกุมาร แล้วหันหน้ากลับหยุดอยู่ฯ ปุโรหิตได้เปลื้องชายผ้าห่มออกพิจารณาดูพื้นเท้าแล้วกล่าวว่า ผู้นี้สมควรเป็นพระราชา จึงให้ประโคมดนตรีขึ้นถึง ๓ ครั้งฯ ครั้งนั้นกุมารก็เปิดผ้าคลุมหน้าออกถามว่า อะไรกัน? ปุโรหิตตอบว่า ข้าแต่เทพเจ้า ราชสมบัติมาถึงท่านแล้วฯ กุมารจึงถามว่า พระราชาของท่านไปไหน? ปุโรหิตตอบว่า ทิวงคตแล้ว จึงถามว่าทิวงคตกี่วันแล้ว ตอบว่า ๗ วันเข้าวันี้แล้วฯ ไม่มีพระราชโอรสพระราชธิดาหรือ? มีแต่พระธิดา ไม่มีพระโอรสฯ ถ้าอย่างนั้นเราจะเป็นพระราชาฯ คนทั้งหลายมีอำมาตย์เป็นต้นนั้นก็สร้างปะรำอภิเษกขึ้นในทันใด แล้วอภิเษกในที่นั้น ครั้นอภิเษกแล้วก็น้อมผ้าราคาพันเข้าไปถวาย พระราชานั้นจึงตรัสว่า ผ้านี้เนื้อหยาบ จงนำเต้าน้ำทองคำมาเราจักให้ได้ผ้า แล้วก็ทรงลุกขึ้นรับน้ำด้วยพระหัตถ์สาดไปทางทิศตะวันออกฯ ต้นกัลปพฤกษ์ ๘ ต้น ก็ผุดขึ้นมากจากแผ่นดินฯ แล้วต่อไปต้นกัลปพฤกษ์ก็เกิดขึ้นทางทิศทักษิณ ๘ ต้น ทางทิศปัจฉิม ๘ ต้น ทางทิศอุดร ๘ ต้น รวมเป็น ๓๒ ต้น ด้วยกันฯ พระราชานั้นทรงนุ่งผ้าทิพย์ผืนหนึ่ง ทรงห่มผ้าทิพย์ผืนหนึ่ง แล้วให้ตีกลองป่าวร้องไปว่า อย่าให้หญิงทั้งหลายในพระราชอาณาเขตของพระเจ้านันทราชปั่นด้ายปั่นไหมเลย แล้วก็ให้ยกเสตรฉัตรเสด็จขึ้นประทับช้างพระที่นั่งเข้าสู่พระนคร เสด็จเข้าสู่ปราสาทเสวยสมบัติใหญ่กระทำแว่นแคว้นของพระองค์ทั้งสิ้นให้เป็นเหมือนทวีปอุดร ได้พระราชทานผ้าทิพย์แก่คนทั้งหลายที่มาแล้วๆ ต่อมาภายหลังก็พร้อมกับพระราชเทวีออกทรงบรรพชาอยู่ที่พระราชอุทยาน ทำฌานให้เกิดขึ้นแล้ว ก็ได้ขึ้นไปเกิดในพรหมโลก ต่อมาในครั้งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายนี้ พระราชาพระองค์นั้นก็ได้มาเกิดเป็นพระมหากัสสปเถรเจ้า พระราชเทวีนั้นก็ได้มาเกิดเป็นนางภัททกาปีลานี ดังนี้ ในเรื่องนี้เป็นเรื่องชี้ให้เห็นอานิสงส์แห่งการถวายผ้าของบุรุษว่า มีอานิสงส์ส่งให้ได้มนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ ตลอดถึงนิพพานสมบัติอย่างน่าอัศจรรย์ใจ

ต่อนี้ไป จะได้ยกเอาเรื่องหญิงขัดสนที่ได้ถวายจีวรแล้วได้อานิสงส์ทำให้สวยงามอย่างน่าอัศจรรย์ใจมาแสดงต่อไป คือในอรรถกถาแห่งอุมมาทันตีชาดก ในปัญยาสนิบาตว่า ในอดีตกาลล่วงแล้วมา มีหญิงขัดสนคนหนึ่งได้เห็นหญิงทั้งหลายผู้มีบุญนุ่งผ้าย้อมดอกคำเที่ยวเล่นอยู่ในวันมหรสพ ก็อยากนุ่งเหมือนเขา จึงบอกแก่มารดาบิดา เมื่อมารดาบิดาบอกว่า ลูกเอ๋ย เราขัดสนจักได้ผ้าอย่างนั้นมาแต่ไหน จึงว่า ถ้าอย่างนั้น ข้าพเจ้าจักไปรับจ้างในตระกูลที่มั่งคั่งแห่งหนึ่ง เขารู้จักความดีของข้าพเจ้าแล้วก็จะให้ผ้าแก่ข้าพเจ้า จึงไปขอรับจ้างอยู่ในตระกูลหนึ่งว่า ต้องการผ้าย้อมดอกคำเป็นค่าจ้างฯ ตระกูลนั้นก็ตอบว่า เมื่อเจ้าทำงานให้เราถึง ๓ ปี เราจึงจะให้ฯ หญิงขัดสนนั้นก็รับว่าได้แล้วก็ทำงานรับจ้างต่อไปฯ คนเหล่านั้นรู้จักความดีของหญิงนั้นแล้ว ยังไมี่ถึง ๓ ปี ก็ให้ผ้าอย่างอื่นพร้อมกับผ้าย้อมดอกคำเนื้อแน่นแก่หยิงนั้นญ หญิงนั้นได้ไปวางผ้าย้้อมดอกคำไว้ที่ริมแม่น้ำแล้วลงไปอาบน้ำฯ ในขณะนั้นก็มีพระภิกษุสงฆ์องค์สาวกของพระกัสสปพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ถูกโจรชิงเอาจีวร แล้วนุ่งห่มใบไม้มาถึงที่นั้นฯ หญิงนั้นก็คิดว่า พระองค์นี้เห็ฯจะถูกโจรแย่งชิงจีวร เมื่อก่อนเราคงไม่ได้ให้ทานผ้าไว้ เราจึงได้ผ้านุ่งยากนัก แล้วก็ฉีกผ้าย้อมดอกคำนั้นออกเป็น ๒ ส่วน ถวายแก่พระสาวกองค์นั้นส่วนหนึ่งฯ พระสวกองค์นั้นก็ไปยืนในที่กำบังเปลื้องใบไม้ออกแล้ว นุ่งชายหนึ่งแห่งผ้าผืนนั้น หามชายหนึ่งแล้วเดินออกมาฯ ครั้งนั้น ร่างกายทั้งสิ้นของพระเถรเจ้าองค์นั้น ก็มีสีเหมือนสีดวงอาทิตย์แรกขึ้น ด้วยอำนาจสีผ้านั้นฯ หญิงนั้นได้เห็นแล้วก็คิดว่าทีแรกพระผู้เป็นเจ้าของเราไม่สวยงาม บัดนี้ มีสียกายรุ่งเรืองเหมือนกับสีดวงอาทิตย์แรกขึ้น เราจักถวายส่วนนี้อีก แล้วถวายส่วนที่ ๒ แล้วตั้งความปรารถนาว่า ท่านเจ้าข้า เมื่อข้าพเจ้ายังเวียนตายเวียนเกิดอยู่ ขอจงให้ข้าพเจ้าได้มีรูปร่างสวยงามยิ่ง ไม่ว่าบุรุษใดๆ ได้เห็นข้าพเจ้าแล้ว อย่าได้ดำรงสติไว้ได้ ทั้งอย่าให้มีหญิงอื่นสวยกว่าข้าพเจ้าเป็นอันขาดฯ ฝ่ายพระเถรเจ้าก็อนุโมทน แล้วก็หลีกไปฯ เมื่อหญิงขัดสนนั้นเวียนตายเวียนเกิดอญู่ในเทวโลกตลอดกาลนานนักหนาก็จุติลงมาจากเทวโลก มาเกิดเป็นธิดาเศรษฐีผู้มีสมบัติ ๘๐ โฏฎิ ชื่อว่า ติริติวัจฉเศรษฐี ในอริฏฐบุรี แว่นแคว้นสีพี นางนั้นมีรูปร่างสวยงามยิ่งบุรุษใดได้เห็นก็เป็นบ้าไม่อาจตั้งสติไว้ได้ เพราะฉะนั้น ธิดาเศรษฐีนั้นจึงชื่อว่ นางอุมมาทันตี แปลว่า ผู้ทำให้บุรุษบ้า ในเวลานางอุมมาทันตี มีอายุได้ ๑๖ ปีก็เป็นประหนึ่งนางเทพอัปสร มีผิวพรรณสวยงามยิ่งกว่ามนุษย์ทั้งหลาย ปุถุชนใดๆ ได้เห็นแล้วปุถุชนนั้นก็ไม่อาจอยู่เป็นปกติได้ ได้เมาด้วยความเมากิเลสเหมือนกับเมาสุราฯ ติริติวัจฉเศรษฐีจึงไปเฝ้าพระเจ้าสีพีกราบทูลว่า ข้าแต่เทพเจ้า นางแก้วได้เกิดขึ้นที่เรือนของข้าพระองค์แล้ว สมควรแก่พระราชแท้ ขอได้โปรดให้พวกอาจารย์ผู้ชำนาญลักษณะไปพิจารณาดูเถิดพระเจ้าข้าฯ พระราชาก็ตรัสสั่งพราหมณ์ทั้งหลายให้ไปพิจารณาดูฯ พราหมณ์เหล่านั้นไปถึงแล้วก็ได้รับการต้อนรับจากเศรษฐีเป็นอย่างดี เศรษฐีได้จัดอาหารมาเลี้ยงฯ ขณะนั้น นางอุมมาทันตีก็ออกมาหาพราหมณ์พวกนั้น พอพราหมณ์พวกนั้นได้เห็นก็ไม่ตั้งสติไว้ได้ ได้เมาไปด้วยความเมากิเลส ตนบริโภคอาหารค้างอยู่ก็ไม่รู้สึก พราหมณ์บางคนได้ยกเอาคำข้าวขึ้นวางบนศีรษะด้วยเข้าใจว่า เอาคำข้าวใส่ปาก บางคนได้ขว้างคำข้าวไปที่ฝา บางคนได้เอาคำข้าวใส่เข้าไปในรักแร้ เป็นอันว่า พราหมณ์พวกทั้งนั้นสิ้นได้เป็นบ้าไปหมดฯ นางอุมมาทันตีได้เห็นอย่างนั้นจึงให้ขับไล่ไปด้วยคำว่า พวกนี้จะมาดูลักษณะเรา จงไสคอออกไปฯ พราหมณ์พวกนั้นก็เก้อ ก็โกรธ จึงพากันไปกราบทูลพระราชาว่า นางอุมมาทันตีนั้นเป็นหญิงกาลกัณณีไม่สมควรแก่พระราชาฯ พระราชาก็ทรงเชื่อถือไม่โปรดให้นำมาเป็นพระอัครมเหสีฯ ครั้งนั้น เศรษฐีจึงได้ยกให้เสนาบดีผู้มีชื่อว่า อภิปารกะ ซึ่งเป็นสหายของพระราชาฯ นางอุมมาทันตีนั้นก็ได้เป็นที่รักที่พอใจของเสนาบดีนั้น ต่อมาภายหลัง พระราชาจึงได้ไปทอดพระเนตรเห็นแล้วทรงคลุ้มคลั่ง ดังหนึ่งว่าเป็นคนใบ้บ้าเสียจริต ด้วยทรงคิดรักนางอุมมาทันตี ถึงกับเสนาบดีได้ออกอุบายแก้ไข จึงทรงหายจากคลุ้มคลั่ง ตั้งอยู่ในราชสมบัติต่อไปดังนี้ฯ เป็นอันว่า อานิสงส์ถวายจีวรของผู้หญิงย่อมทำให้มีรูปร่างสวยงามยิ่ง ดังนางอุมมาทันตีที่แสดงมา ส่วนอานิสงส์ใส่บาตร สร้างกุฏีวิหาร ถวายยาแก้โรคภัยไข้เจ็บนั้น ก็ยังมีตัวอย่างอีกเป็นอันมาก เพราะฉะนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสว่า การให้ทานเพียงครั้งเดียวแก่ผู้อบรมตนดีแล้ว ก็มีผลมากกว่าการให้ทานแก่ปุถุชน ตลอด ๑๐๐ ปี ดังนี้ สิ้นเนื้อความในเทศนากัณฑ์นี้เพียงเท่านี้.