ประวัติ หลวงปู่บุดดา ถาวโร

Spread the love

หลวงปู่บุดดา ถาวโร มีนามเดิมว่า บุดดา นามสกุล มงคลทอง เกิดเมื่อวันเสาร์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2437 สถานที่เกิด หมู่บ้านหนองเต่า ต.พุคา อ.โคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ได้บรรพชาและอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดเนินยาว ต.โพนทอง อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี ในปีพ.ศ. 2465 โดยมีพระครูธรรมขันธ์สุนทร(หม่อมราชวงศ์เอี่ยม)เป็นพระอุปัชฌาย์ มรณภาพ 12 มกราคม พ.ศ. 2537 สิริรวมอายุ 101 ปี 7 วัน 73 พรรษา ตรงกับวันพุธ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 2 ปีจอ

ชีวิตฆราวาส
หลวงปู่บุดดา มีโยมบิดาชื่อ นายน้อย มงคลทอง โยมมารดาชื่อ นางอึ่ง มงคลทอง มีพี่น้องทั้งหมด 7 คน ในช่วงวัยเด็กท่านได้เกิดมีสัญญาความจำระลึกย้อนอดีตชาติได้ว่า บิดาของท่านในอดีตชาติเคยเป็นพี่ชายของท่าน

พอเข้าสู่วัยฉกรรจ์อายุได้ 21 ปีบริบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2458 ได้ถูกเกณฑ์เข้าเป็นทหารสังกัดกองทัพบก ทหารบกปืน 3 ในสมัยรัชกาลที่ 6 รับราชกาลทหารอยู่ 2 ปี ในกองทัพที่ 3 ลพบุรี สมัยเมื่อเป็นพลทหารหนุ่มรูปงาม มีผู้หญิงมาชอบ เข้ามาพูดจาทำนองเกี้ยว แต่ท่านพูดกลับไปว่า “กลับไปเสียเถิด ฉันเป็นทหารตัวเมีย ไม่ชอบผู้หญิง ถ้าไปเจอทหารตัวผู้คนอื่นเข้าก็จะลำบาก”

ในปี พ.ศ. 2460 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น ทางการได้มีการรับสมัครคัดเลือกทหารอาสาไปราชการรบในสงคราม ณ ทวีปยุโรป หลวงปู่บุดดาได้เข้าสมัครอาสาด้วยเหมือนกัน แต่ท่านกินเหล้าไม่เป็น เขาจึงไม่รับโดยได้อธิบายเหตุผลว่า ในทวีปยุโรปนั้นอากาศหนาวเย็นมาก ทหารทุกคนจำเป็นต้องดื่มเหล้าเพื่อช่วยให้คลายหนาว ดังนั้นท่านจึงไม่ได้เข้าร่วมในสงครามคราวนั้น

สู่ร่มกาสาวพัสตร์
หลังรับราชการทหาร ท่านได้ช่วยโยมบิดามารดาทำงานเกษตรกรรมอยู่ 4 ปี โดยท่านมีความปรารถนาในใจเสมอมาว่า อยากจะได้บวชในร่มเงาพระพุทธศาสนา ด้วยจิตที่เบื่อหน่ายในทางโลกมาตั้งแต่เด็กแล้ว ดังนั้นเมื่อมีโอกาสจึงขออนุญาตต่อบิดามารดาบวช เมื่ออายุได้ 28 ปี ที่วัดเนินยาว โดยมี พระครูธรรมขันธ์สุนทร (ม.ร.ว.เอี่ยม อิศรางกูร ณ อยุธยา) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูเรือง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เจ้าอธิการไพล เป็นพระอนุสาวนาจารย์

โดยมีคณะสงฆ์ 25 รูป นั่งเป็นพระอันดับ ได้ฉายาว่า “ถาวโรภิกขุ”

หลวงปู่บุดดา ท่านกล่าวเสมอว่า ท่านถือพระอุปัชฌาย์ และพระสงฆ์ 25 รูป เป็นครูบาอาจารย์อุปัชฌาย์ทุกองค์ ท่านสอนปัญจกรรมฐานให้แล้วในวันอุปสมบท คือเกศา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ หรือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โดยพิจารณาเรียงไปตามลำดับและย้อนกลับ จนเห็นชัดเจน

แสวงโมกขธรรม
หลังจากบวช เมื่อออกพรรษาแรกแล้วหลวงปู่บุดดาได้ออกจาริกแสวงหาสถานที่วิเวก เจริญสมณธรรมตามอัธยาศัยเพียงองค์เดียว หลวงปู่บุดดามุ่งปฏิบัติกรรมฐานพิจารณากายภายในอยู่เสมอ ข้อวัตรปฏิบัติเคยทำอย่างไรก็ยังคงทำมิได้ขาด ท่านทำความเพียรอยู่โดยตลอด บางครั้งบางคราว กิเลสราคะอันมักจะเกิดขึ้นมาให้รู้ได้ว่ายังมีอยู่ท่านก็ได้เพียรพยายามดับมันด้วยอุบายวิธีต่าง ๆ

หลวงปู่บุดดาท่านจาริกธุดงค์บำเพ็ญเพียรมาโดยตลอด จนถึงพรรษาที่ 4 ท่านได้ออกธุดงค์อยู่ในป่าแถบเทือกเขาภูพานนั้น ท่านได้พบกับพระธุดงค์องค์หนึ่งคือ พระสงฆ์ พรหมสโร ซึ่งมีอายุแก่กว่าท่าน 10 ปี พรรษามากกว่า 1 ปี ทันทีที่ได้พบหน้าท่านระลึกชาติได้ว่าพระสงฆ์ พรหมสโร เคยเป็นบิดาในอดีตชาติ ท่านจึงเรียกพระสงฆ์ พรหมสโร ว่าคุณพ่อสงฆ์ หลวงปู่บุดดากับพระสงฆ์ พรหมสโร มีอัชฌาศัยตรงกัน

หลังจากนั้นท่านได้ออกจาริกร่วมธุดงค์มาด้วยกัน จากอีสานมาสู่ภาคกลาง ผ่านตำบลหัวหวาย อำเภอตาคลี นครสวรรค์พบชัยภูมิคือ ภ้ำภูคา บนภูคา มีบรรยากาศสงบ ร่มเย็นและวิเวกยิ่ง สถานที่สัปปายะ เหมาะแก่การเจริญกรรมฐานยิ่ง พอใกล้พรรษาทั้งสองจึงได้ไปจำพรรษาที่วัดป่าหนองคู พอออกพรรษาก็กลับมาที่ถ้ำภูคาอีกครั้ง

ณ ที่ถ้ำภูคานี้เองที่หลวงปู่บุดดาในพรรษาที่ 4 และพระสงฆ์ พรหมสโร ในพรรษาที่ 5 ได้พำนักอาศัยบำเพ็ญเพียรจนได้รู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจธรรมทั้งสององค์

สิ้นอาสวะ
หลวงปู่บุดดาท่านได้เล่าเหตุการณ์ในวันที่บรรลุธรรมว่า คืนนั้นขณะที่ท่านทั้งสองกำลังนั่งคุยกันอยู่ โดยนั่งลืมตาคุยกันปกตินี่เอง แล้วหันหน้าเข้าสนทนากันอย่างออกรสชาติอยู่นั่นเอง จู่ ๆหลวงปู่บุดดาก็เงียบเสียงไปเฉย ๆ นั่งลืมตาค้างอยู่ พระสงฆ์ พรหมสโร ท่านก็นั่งเฝ้าอยู่อย่างนั้นมองดูอยู่ ปกติท่านเป็นพระขี้สงสัย ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ ก็แปลกใจที่ทำไมหลวงปู่บุดดาจึงเงียบเสียงไปเฉย ๆ ก็ถามหลวงปู่บุดดาว่า “เอ๊ะ เป็นอะไรไป”

หลวงปู่บุดดาท่านก็นิ่งเฉยไม่ตอบ นัยน์ตาคงเบิกโพลงอยู่อย่างนั้น เป็นอันว่าหลวงปู่บุดดาท่านได้จบกิจพระศาสนา ทำอาสวะให้สิ้นต่อหน้าพระสงฆ์ พรหมสโร นั่นเอง

หลังจากนั้น 3 วัน ในตอนเช้าก่อนที่จะออกบิณฑบาต พระสงฆ์ พรหมสโร ก็มาบอกต่อหลวงปู่บุดดาว่า “ไม่มีคนไปนรก ไม่มีคนไปสวรรค์ เน้อ” หลวงปู่บุดดาจึงเสริมว่า “โอ๊ย มันจะมีนรก มีสวรรค์อย่างไร นั่นมันกิเลสต่างหากเล่า กิเลสหมด มันก็หมดนรก หมดสวรรค์ซิ” เป็นอันว่าพระสงฆ์ พรหมสโร ท่านได้จบกิจบรรลุธรรมในคืนก่อนนั่นเอง