ประวัติ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)

Spread the love
h5514eba.jpg

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี) มีนามเดิมว่า “โต” เมื่ออุปสมบทในพระพุทธศาสนา ได้นามฉายาว่า “พรหมรังษี” ท่านเกิดเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก จ.ศ. 1150 เวลา 06.45 น. ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 ที่บ้านท่าหลวง จังหวัดพิจิตร มารดาชื่องุด บิดาไม่ปรากฏแน่ชัด เนื่องจากอาชีพของมารดาและตาต้องเร่ร่อนขายของไปตามหัวเมืองต่างๆ อยู่ตลอดจึงนำเด็กชายโตไปฝากเป็นลูกศิษย์พระอยู่กับหลวงตาเกตุ วัดหลวงพ่อเพชร

เด็กชายโตในตอนเล็กๆ เป็นเด็กฉลาดมีปัญญาหลักแหลมชอบที่จะศึกษาเรียนรู้ภาษาขอมกับหลวงตาเกตุอยู่เป็นประจำไม่ค่อยจะเหมือนเด็กในรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่ยังมีนัยของเด็กชายทั่วๆ ไป พอเด็กชายโตอายุได้ 7 ขวบ หลวงตาเกตุก็ทำการบวชเณรให้ศึกษาเล่าเรียนภาษาขอมกับหลวงตาเกตุจนเกิดความชำนาญและเรียนรู้เข้าใจในภาษาจนหมดไส้หมดพุงของหลวงตาแล้วสามเณรโตจึงออกแสวงหาครูบาอาจารย์ที่มีความรู้เพื่อจะร่ำเรียนวิชา สามเณรโตจึงตัดสินใจย้ายติดตามโยมตากับแม่ไป อยู่ ณ วัดเกศไชโย จังหวัดอ่างทอง เพื่อหาที่ศึกษาเรียนรู้ในพระไตรปิฎกและอภิธรรมบาลีและมูลกัจจายน์ต่างๆ แต่ก็ยังหาครูบาอาจารย์ดีๆ เก่งๆ ถวายตัวเป็นลูกศิษย์ไม่ได้จนหลวงตาเกตุได้นำไปถวายตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อสุก วัดพลับซึ่งต่อมาได้ดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน)

สามเณรโตได้เข้ามาถวายตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อสุก และได้เรียนพระไตรปิฎกกับหลวงพ่อวัดพลับ เรียนมูลกัจจายน์กับหลวงพ่อวัดแจ้ง เรียนพระธรรมบาลีสันสกฤตกับหลวงพ่อวัดมหาธาตุ ซึ่งหลวงพ่อวัดไหนเก่งทางด้านใดมีความสามารถทางด้านใด สามเณรโตก็จะเข้าไปถวายตัวเป็นศิษย์เพื่อที่จะเล่าเรียนวิชาด้วย จึงทำให้วิชาเกือบจะทุกสาขาทุกแขนง สามเณรโตสามารถเล่าเรียนมาจากครูบาอาจารย์ต่างๆ จนจบหมด มีความรู้ความสามารถตั้งแต่ยังเป็นสามเณรน้อย จึงกลายเป็นที่รักใคร่ของหลวงพ่อสุกมาก และที่ขึ้นชื่อของสามเณรโตก็คือท่านเป็นเณรนักเทศน์ที่หาตัวจับยาก แสดงธรรมได้ลึกซึ้งเข้าถึงจิตใจชาวบ้าน หลวงพ่อสุกจึงได้นำสามเณรโตไปฝากตัวกับรัชกาลที่ 1 ให้เข้าไปอยู่ในพระราชวังเพื่อที่จะเข้าไปศึกษาเรียนรู้วิทยาการต่างๆ จากโหรหลวง องคมนตรีและคณะพราหมณ์ภายในพระมหาราชวังจนสำเร็จวิชาโหราศาสตร์เรียนรู้ในจักราศีโลก เรียนรู้ดวงดาวและตำราพิชัยสงครามต่างๆ ในการปกครองบ้านเมือง สามเณรโตถึงแม้ว่าจะอายุยังน้อยแต่ก็เป็นที่รอบรู้วิชาและวิทยาการต่างๆจากครูบาอาจารย์หลายรูปหลายองค์จนกลายเป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่ 1 เป็นอย่างมากซึ่งท่านจะมอบหมายงานสำคัญทางด้านศาสนาให้สามเณรคอยช่วยเหลือดูแลอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในยุคต้นๆ ของกรุงรัตนโกสินทร์นั้นมีวัดวาต่างๆ ร้างราไปเป็นจำนวนมากขาดพระที่มีความรู้ความสามารถเข้าไปทะนุบำรุงรักษาจึงมอบหมายให้สามเณรโตคอยเข้าไปช่วยเหลือดูแลบูรณะวัด วัดไหนร้าง วัดไหนที่ไม่เจริญก็ให้สามเณรโตเข้าไปหาทางพัฒนาเพื่อที่จะยกฐานะขึ้นเป็นวัดหลวงสืบไป เมื่อสามเณรโตอายุครบบวชก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ ขึ้นเป็นนาคหลวงโดยมีสมเด็จพระสังฆราช (สุก) เป็นอุปัชฌาย์ให้

เมื่อบวชพระเรียบร้อยแล้วก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆังควบคู่ไปกับการสอนพระสอนเณรและลูกท่านหลานเธอและเชื้อพระวงศ์ต่างๆ ให้เรียนรู้ในพระวินัย พระไตรปิฎก อภิธรรมบาลีรวมถึงแนวทางของการปฏิบัติทั้งด้านคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ เพราะไม่มีพระรูปใดแตกฉานรอบรู้พระปริยัติธรรมจนหมดเกือบทุกแขนง พระภิกษุโตรับภาระหน้าที่ในการพัฒนาทั้งทางโลกและทางธรรมอยู่เป็นระยะเวลาถึง 14 ปีเต็ม บ้านเมืองก็เข้าสู่สภาวะปกติ ภิกษุโตก็มีชนมายุ 35 ปีจึงหลบหนีออกจากวัดระฆังละทิ้งภาระหน้าที่ทั้งปวงในทางโลกีย์เพื่อที่จะยกระดับจิตเข้าสู่การออกไปศึกษาธรรมสัจจะชั้นสูงด้วยการธุดงควัตรออกไปใช้ชีวิตอยู่ตามถ้ำตามป่าตามเขา ธุดงควัตรไปเรื่อยๆเพื่อจะฝึกฝนปฏิบัติต่อจิตทำฌานสมาบัติของตนเองให้แก่กล้าเพื่อที่จะเข้าไปศึกษาเรียนรู้สัจจะธรรมในป่า นับจากทุ่งใหญ่นเรศวรท่องเที่ยวไปเรื่อยๆ จนเข้าสู่ดงพญาเย็นเทือกเขาสูงแนวเขตติดต่อของจังหวัดสระบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ โคราช เข้าไปหลบปฏิบัติอยู่ตามเถื่อนถ้ำต่างๆ ในละแวกของ อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรีในปัจจุบันนี้จนได้สร้างวัดพรหมรังษีขึ้น เมื่อท่องเที่ยวปฏิบัติธรรมจนได้ฌานขั้นสูง สำเร็จอนุสติฌานและเจโตปริยญาณได้ระยะเวลาหนึ่งก็เกิดคิดถึงโยมมารดาอยากจะนำบุญบารมีในการปฏิบัติของตนเองกลับไปสั่งสอนให้กับโยมมารดาและญาติโยม ณ บ้านเกิดของตน ภิกษุโตจึงตัดสินใจกลับไปอยู่บูรณะวัดเกศไชโย จังหวัดอ่างทองให้เจริญรุ่งเรือง เมื่อรัชกาลที่ 4 ขึ้นครองราชย์ก็เกิดความระลึกถึงครูบาอาจารย์ “ขรัวโต” ซึ่งเคยอบรมสั่งสอนประสิทธิ์ประสาทวิชาให้แก่ท่านและเหล่าเชื้อพระวงศ์ต่างๆ รัชกาลที่ 4 จึงออกคำสั่งให้ทุกแว่นแคว้นทุกหัวระแหง ทุกมุมเมืองช่วยตามหาพระโตกลับเข้าวังด่วน โดยบอกรูปลักษณ์ที่โดดเด่นของภิกษุโตออกไปตามสถานที่ต่างๆ ทำให้บรรดาพระภิกษุสงฆ์ที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายคลึงกับภิกษุโตถูกจับกุมตัวพาเข้าวังหมดกลายเป็นความทุกข์ร้อนใจเกิดขึ้นในหมู่สงฆ์ จนภิกษุโตอดรนทนอยู่ต่อไปไม่ไหวก็ยอมกลับเข้าสู่เมืองหลวงตามเดิม เมื่อกลับเข้าสู่เมืองหลวงแล้ว รัชกาลที่ 4 ก็ได้แต่งตั้งให้เป็นพระราชาคณะเพื่อให้สมเด็จฯโต ท่านกลับมาบูรณะและฟื้นฟูพัฒนาพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองทั่วทุกวัดกลายเป็นพระหลวงที่ต้องแบกภาระรับผิดชอบวัดวาอารามต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งที่สมเด็จโตไม่ปรารถนาในยศถาบรรดาศักดิ์ใดๆ ทั้งสิ้นก็ต้องทำใจยอมรับภาระนั้นมาปฏิบัติ เพราะนิสัยโดยส่วนตัวของท่านแล้ว ท่านจะถือวินัยสงฆ์เป็นหลัก ท่านจะเคร่งครัดในข้อวัตรข้อปฏิบัติของสงฆ์มาโดยตลอดมิได้ขาด

กิจของสงฆ์ท่านไม่เคยบกพร่อง ตื่นตั้งแต่ตีสาม ล้างหน้าล้างตา ครองจีวรเสร็จตีสามกว่าลงมานำพระเณรและญาติโยมทำวัตรเช้า ก่อนที่จะออกไปบิณฑบาตในทุกๆ เช้า พายเรืออีป๊าบออกไปบิณฑบาตซึ่งก็จะต้องพายเอง เพราะเรืออีป๊าบนั่งได้แค่คนเดียว พระหัววัดในสมัยก่อนก็ต้องทำเองหมดทุกอย่าง ไม่ใช่ว่ามียศถาบรรดาศักดิ์แล้วจะมีความสุขความสบายอย่างเช่นในทุกวันนี้ พอฉันอาหารเสร็จก็ต้องนำบาตรไปล้างเช็ดถู ตากแดดให้แห้ง เวลาเขาใส่บาตรข้าวจะได้ไม่บูด สมเด็จฯโต ท่านจะทำทุกอย่างด้วยตัวของท่านเอง เมื่อเขาเห็นว่าท่านแก่แล้วจึงไม่อยากให้ท่านธุดงค์อีก ท่านจึงต้องอยู่ประจำวัดระฆังฯไม่ออกไปไหน ในช่วงแรกๆ ท่านก็ต้องสอนหนังสือให้กับลูกท่านหลานเธอซึ่งเจ้านายชั้นผู้ใหญ่นำมาฝากฝังท่านก็ต้องอบรมสั่งสอนภิกษุสงฆ์องค์เณรที่เข้ามาถวายตัวเป็นศิษย์ของท่าน ซึ่งมีอยู่หลายองค์ด้วยกัน เช่น หลวงพ่อจันทร์ วัดนางหนู ลพบุรี หลวงพ่อคลาย วัดบัว ลพบุรี หลวงพ่อแดง วัดเขาบันใดอิฐ เพชรบุรี หลวงพ่ออี๋ สัตหีบ ซึ่งทั้งหมดนี้ได้เข้ามาถวายตัวเป็นศิษย์เพื่อที่จะเข้ามาศึกษาเรียนรู้ภาษาขอม บาลี สันสกฤต มคธ กับสมเด็จท่านเพราะในยุคนั้นเขาถือกันว่าสมเด็จโตท่านเป็นพระอาจารย์เป็นผู้ที่รอบรู้ทั้งทางด้านวิปัสสนากรรมฐาน อภิธรรม บาลีต่างๆ ในช่วงหลังๆ สมเด็จโต ท่านก็ไม่ค่อยจะได้สอนหนังสือเอง เพราะมีอาจารย์ใหม่ขึ้นมาสอนแทนจึงทำให้ท่านมีเวลาว่างเพิ่มมากยิ่งขึ้น ปฏิบัติกิจเป็นส่วนตัว เมื่อแก่ก็ไม่รู้จะทำอะไร ท่านจึงผูกใบลานเทศน์ ตากข้าวก้นบาตร นำดินสอพองมาปั้นชอล์กเขียนอักขระเลขยันต์ทำผงอิทธิเจ เก็บมวลสารต่างๆ มาบดทำพระเก็บดอกไม้บูชาพระต่างๆ มาทำอะไรเล่นๆ ในครั้งแรกท่านใช้หินลับมีดโกนมาทำแบบบล็อกพระ ทำเป็นรูปเหมือนของพระมหาสมณโคดมสร้างเป็นสมเด็จขึ้นมาโดยมิได้คิดอะไร เก็บสะสมเอาไว้ พอช่วงเข้าพรรษาก็ต้องหนักหน่อยเพราะต้องนำพระที่จัดสร้างขึ้นทั้งหมดเข้าโบสถ์ สวดมนต์ไหว้พระ ปฏิบัติศาสนกิจของสงฆ์ อันเชิญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ อิติปิโส พาหุงฯ ธรรมจักร มงคลจักรวาลใหญ่ อยู่จนครบ 3 ไตรมาส ทำเสร็จแล้วท่านก็ไม่รู้จะแจกใคร พอมีใครผ่านไปผ่านมาท่านก็แจก ใครอยากได้มาก็มาขอกันไปคนละ 2 กระป๋อง 3 กระป๋อง นำไปแจกกันต่อๆ ไป พอชุดแรกแจกหมดไป สมเด็จท่านก็ทำใหม่อีก แต่ในครั้งหลังๆ ลูกศิษย์ลูกหาที่ทราบข่าวก็มาช่วยกันทำ

เมื่อลูกศิษย์มาช่วยทำก็สามารถสร้างพระสมเด็จได้เป็นจำนวนมากๆ สมเด็จฯท่านจึงนำไปบรรจุกรุไว้ตามเพดานโบสถ์หรือทำเจดีย์ขึ้นมาและฝังกรุของท่านไว้ใต้ฐาน เพื่อให้คนเข้ามาสักการะเจดีย์พระธาตุทั้งหลายจะได้มีความสุขความเจริญในชีวิตครอบครัว

ในบรรดาลูกท่านหลานเธอที่เข้ามาถวายตัวเป็นศิษย์สมเด็จฯ โต ช่วงสุดท้ายเห็นจะไม่มีใครเก่งเกิน รัชกาลที่ 5 ซึ่งเข้ามาถวายตัวเป็นศิษย์ของท่านในขณะที่มีพระชนพรรษาได้ 10-11 ขวบ เพื่อที่จะเข้ามาขอเรียนวิชาต่างๆ เช่น พุทธศาสตร์ พระไตรปิฎก เรียนการมีสติและทศพิธราชธรรมต่างๆ จนมีพระปรีชาสามารถมากที่สุดในบรรดาลูกท่านหลานเธอทั้งหลาย สอนอะไรก็รับได้ทั้งทางโลกและทางธรรม เรียนรู้ได้รวดเร็วมีปัญญาเป็นเลิศ

เมื่อว่างเว้นจากการสร้างพระแล้ว สมเด็จฯ โตก็จะนำพระธรรมจักกัปปวัตนสูตรมาผูกขึ้นเป็นพระคาถาชินบัญชรพร้อมกับนำบทสวดมนต์ต่างๆ มาแปลเป็นภาษาไทยเพื่อความเข้าใจง่าย เช่นการกราบไหว้บูชาพระ บทบูชาพระรัตนตรัย บทวิรัตศีลของพระศรีอริยเมตไตรยขึ้น

ในช่วงสุดท้ายของชีวิตท่าน ในเมื่อมีเวลาว่างมากท่านก็เลยปิดกุฏิไม่รับแขกทำสมาธิถอดจิตขึ้นข้างบน เพื่อที่จะเข้าเฝ้าองค์สมเด็จ ณ พระเกตุแก้วจุฬามณี สมเด็จโต จะอาพาธด้วยโรคอะไรไม่ปรากฏ มรณภาพเมื่อวันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 (ต้น) ปีวอก จ.ศ. 1234 ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน 2415 เวลาประมาณ 24.00 น.เศษ บนศาลา ใหญ่วัดอินวรวิหาร บางขุนพรหม รวมชนมายุ 84 ปี 2 เดือน 5 วัน