พระมงคลเทพมุณี : สด จนฺทสโร (หลวงพ่อวัดปากน้ำ)
๑๐ ตุลาคม ๒๔๒๗ – ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒
วัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร
พระมงคลเทพมุนี หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ คือ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งสูญหายไปเมื่อประมาณพ.ศ. ๕๐๐ กลับคืนมาอีกครั้ง ด้วยการสละชีวิตปฏิบัติธรรมถึง ๒ คราว จนเข้าถึงพระธรรมกาย และได้ศึกษาวิชชาธรรมกาย จนเกิดความเชี่ยวชาญ แล้วได้มุ่งมั่น เผยแผ่ พระพุทธศาสนา และวิชชาธรรมกาย จนตลอดชีวิตของท่าน
หลวงปู่วัดปากน้ำ เป็นตัวอย่างของพระภิกษุผู้สมบูรณ์ พร้อมทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เป็นผู้ส่งเสริม สนับสนุนการศึกษาของพระภิกษุสามเณร เป็นพระนักปฏิบัติธรรม และเป็นพระนักพัฒนา
พระมงคลเทพมุนี หลวงปู่วัดปากน้ำ คือ จอมทัพธรรม ผู้นำในการสร้างบารมีเพื่อไปสู่ที่สุดแห่งธรรม โดยท่านตั้งความปรารถนาจะค้นคว้าวิชชาธรรมกายไปให้ถึงที่สุด ให้สรรพสัตว์ทั้งหลายหลุดพ้นจาก การเป็นบ่าว เป็นทาสของพญามาร เอาชนะให้ได้เด็ดขาด
ประวัติก่อนบวช
ชาติกำเนิดและชีวิตวัยเยาว์
พระมงคลเทพมุนี ท่านมีนามเดิมว่า สด มีแก้วน้อย เกิดเมื่อวันศุกร์ ที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๗ ตรงกับวันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก ณ หมู่บ้านเหนือ ฝั่งตรงข้ามวัดสองพี่น้อง ต.สองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เป็นบุตรของ นายเงิน มีแก้วน้อย และนางสุดใจ มีแก้วน้อย ท่านเรียนหนังสือกับพระน้าชาย ที่วัดสองพี่น้อง ต่อจากนั้นได้มาศึกษาต่อที่วัดบางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม ได้ศึกษาหนังสือขอม จนสามารถอ่านหนังสือพระมาลัย ซึ่งเป็นภาษาขอมทั้งเล่มจนคล่อง หลังจากนั้นจึงได้ช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพค้าข้าว
ในวัยเด็กท่านเป็นเด็กฉลาด ใจคอเด็ดเดี่ยวมั่นคง เมื่อตั้งใจทำสิ่งใด เป็นต้องพยายามทำจนสำเร็จ เมื่อไม่สำเร็จเป็นไม่ยอมเด็ดขาด เช่น ท่านเคยช่วยทางบ้านเลี้ยงวัว เมื่อวัวพลัดเข้าไปในฝูงวัวบ้านอื่น ท่านจะต้องไปตามวัวกลับมาให้ได้ ไม่ว่าวัวจะไปอยู่ที่ไหนดึกดื่นอย่างไรก็ตาม เมื่อไม่ได้วัวมาก็ไม่ยอมกลับ
นอกจากนั้น ท่านยังประกอบไปด้วยเมตตาจิตในสัตว์ เช่น ถ้าใช้วัวไถนา ก็จะคอยสังเกตดูดวงตะวันว่าใกล้เพลหรือยัง เพราะท่านถือคติโบราณว่า “เพลคาบ่าวัว” ถือว่าบาปมาก ท่านจะเลิกตรงเวลา จนโยมพี่สาวนึกว่าท่านขี้เกียจ เมื่อถูกดุท่านก็ไม่ยอมทำตาม เพราะเห็นว่าวัวเหนื่อยมากแล้ว ก็จะนำไปอาบน้ำจนเย็นสบาย และปล่อยให้ไปกินหญ้าอย่างเป็นอิสระ
เหตุที่ปฏิญาณตนบวชจนตาย
เมื่ออายุ ๑๔ ปี บิดาได้เสียชีวิตลง เนื่องจากตรากตรำในการค้าข้าว ท่านจึงต้องมารับช่วงคุมงานแทน จนกระทั่งอายุย่างเข้า ๑๙ ปี ระหว่างทำการค้าข้าวอยู่นั้น วันหนึ่งท่านนำเรือเปล่ากลับบ้าน พร้อมกับเงินที่ได้จากการค้าหลายพันบาท จำเป็นต้องผ่านมาทางคลองเล็ก ซึ่งเป็นคลองลัดชาวบ้านเรียกว่า “คลองบางอีแท่น” คลองนี้ไม่ยาวมากนัก แต่เปลี่ยวและมีโจรผู้ร้ายชุกชุม ท่านซึ่งยืนถือท้ายเรืออยู่ และเป็นจุดสำคัญที่โจรจะทำร้ายได้ก่อน ก็สับเปลี่ยนให้ลูกจ้างมาถือแทน ส่วนท่านหยิบปืนยาวไปถ่อเรือ แทนลูกจ้างทางหัวเรือ พอเรือแล่นเข้าที่เปลี่ยวเข้าไปเรื่อยๆ พลันก็เกิดความคิดแว่บขึ้นมาว่า “คนพวกนี้ เราจ้างเขามาเพียง ๑๑ – ๑๒ บาท เท่านั้น ส่วนตัวเรา เป็นทั้งเจ้าของทรัพย์และเจ้าของเรือ เมื่อมีภัยใกล้ตายกลับโยนไปให้ลูกจ้าง”
เมื่อคิดตำหนิตัวเองเช่นนี้ ก็ไม่อยากเอาเปรียบลูกจ้าง ท่านจึงตัดสินใจกลับมาถือท้ายเรือตามเดิม ยอมเสี่ยงรับอันตรายแต่ผู้เดียว เมื่อเรือพ้นคลองมาได้ ท่านก็มาพิจารณาเห็นว่า “การหาเงินเลี้ยงชีพนั้น ลำบาก บิดาของเราก็หามาอย่างนี้ ต่างไม่มีเวลาว่างกันทั้งนั้น ถ้าใครไม่รีบหาให้มั่งมีก็เป็นคนชั้นต่ำ ไม่มีใครนับหน้าถือตา เข้าหมู่เพื่อนบ้านก็อับอายขายหน้า ไม่เทียมหน้าเขา บุรพชนต้นสกุล ก็ทำมาอย่างนี้เหมือนกัน จนถึงบิดาเรา และตัวเราในบัดนี้ ก็คงทำอยู่อย่างนี้เหมือนกัน ก็บัดนี้บุรพชนทั้งหลายได้ตายไปหมดแล้ว ตัวเราก็จักตายเหมือนกัน เราจะมัวแสวงหาทรัพย์อยู่ทำไม ตายแล้วเอาไปไม่ได้ บวชดีกว่า” ท่านจึงได้ตั้งสัจจะอธิษฐานว่า “ขอเราอย่าได้ตายเสียก่อนเลย ขอให้ได้บวชเสียก่อน เมื่อบวชแล้วจะไม่ลาสิกขา ขอบวชไปจนตลอดชีวิต” นี่เป็นคำอธิษฐาน เหมือนกับท่านได้บวชมาแล้วตั้งแต่อายุ ๑๙ ปี เมื่อได้ตั้งใจแน่วแน่เด็ดเดี่ยวแล้ว ก็ขะมักเขม้นประกอบอาชีพหนักยิ่งขึ้น เพื่อสะสมทรัพย์ไว้ให้มารดาได้เลี้ยงชีพ เมื่อปราศจากท่านแล้วมารดาจะได้ไม่ลำบาก นับว่าท่านเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทียิ่งนัก
อุปสมบท
ท่านได้อุปสมบทเมื่อ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๙ ขณะมีอายุย่างเข้า ๒๒ ปี ณ พัทธสีมาวัดสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี มีฉายาว่า จนทสโร
• พระอาจารย์ดี วัดประตูสาร อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์
• พระครูวินยานุโยค (เหนี่ยง อินทโชโต) วัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์
• พระอาจารย์โหน่ง อินทสุวณโณ วัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรีเป็นพระอนุสาวนาจารย์
เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี อยู่ ๑ พรรษา หลังจากปวารณาพรรษาแล้ว ท่านได้ย้ายมาจำพรรษา ณ วัดพระเชตุพนฯ กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม ขณะเรียน ท่านมีความลำบากเรื่องบิณฑบาตเป็นอันมาก บางวันบิณฑบาตได้ไม่พอฉัน บางวันได้เพียงส้มผลเดียว บางวันไม่ได้เลย ท่านก็ไม่ฉันของพระรูปอื่น ซึ่งได้อาหารเพียงเล็กน้อย ท่านคิดว่า “อย่างน้อยที่สุด ถ้าจะต้องตาย เพราะไม่ได้ฉันอาหาร ก็จะเป็นเหตุให้พระทั้งเมืองมีฉัน เพราะว่า ใครๆ จะเล่าลือกันไปทั่ว จนทำให้ชาวบ้านสงสารพระภิกษุ”
สร้างมหาทาน
มีอยู่วันหนึ่ง ท่านออกไปบิณฑบาตอยู่จนสาย ได้ข้าวเพียงหนึ่งทัพพี และกล้วยน้ำว้าหนึ่งผล กลับมาถึงกุฏิด้วยความเหนื่อยอ่อน เพราะไม่ได้ฉันมา ๒ วันแล้ว เมื่อเริ่มลงมือฉันได้คำหนึ่ง ท่านก็เหลือบไปเห็น สุนัขตัวหนึ่ง ผอมโซ เพราะอดอาหารมาหลายวัน แม้กำลังหิวจัด ก็ยังมีเมตตาสงสารสุนัขตัวนั้น จึงได้ปั้นข้าวที่เหลืออีกคำหนึ่ง และแบ่งกล้วยน้ำว้าครึ่งผลให้แก่สุนัขผอมโซตัวนั้น สุนัขกินแต่ข้าวไม่กินกล้วย ท่านก็คิดว่า “ไม่รู้ว่าเจ้าไม่กิน” คิดจะเอากล้วยกลับมา แต่เห็นว่าไม่สมควรเพราะได้สละขาดไปแล้ว จะเอากลับมาฉันใหม่ ในที่นั้นก็ไม่มีใครจะประเคนให้ด้วย
เหตุการณ์นี้ทำให้ท่านตั้งจิตอธิษฐานว่า “ขึ้นชื่อว่าความอดอยากอย่างนี้ ขออย่าให้มีอีกเลย” หลังจากนั้นเป็นต้นมา ทุกครั้งที่ท่านไปบิณฑบาต ปรากฏว่าได้อาหารมามากมาย ท่านจึงได้แบ่งถวายพระภิกษุรูปอื่นด้วย
การศึกษาปริยัติธรรม
ท่านเริ่มเรียนบาลี โดยท่องสูตรก่อน เมื่อท่องจบสูตรเบื้องต้นแล้ว เริ่มเรียน มูลกัจจายน์ (คัมภีร์ไวยากรณ์บาลี) ขึ้นไป จากนั้นเรียน นาม สมาส ตัทธิต อาขยาต กิตก์ แล้วเริ่มเรียนคัมภีร์ ตั้งแต่ธรรมบท มงคลทีปนี และสารสังคหะ ตามความนิยมในสมัยนั้น จนชำนาญเข้าใจและสามารถสอนผู้อื่นได้ ขณะกำลังเรียนอยู่นั้น ท่านต้องพบกับความลำบากมาก ต้องเดินทางไปศึกษากับอาจารย์ตามวัดต่างๆ เมื่อฉันแล้ว ข้ามฟากไปเรียนที่วัดอรุณราชวราราม กลับมาฉันเพลที่วัดพระเชตุพนฯ เพลแล้วไปเรียนต่อที่วัดมหาธาตุ ตอนเย็นไปเรียนที่วัดสุทัศน์ฯบ้าง วัดสามปลื้มบ้าง กลางคืนเรียนที่ วัดพระเชตุพนฯ แต่ไม่ได้ไปติดๆ กันทุกวันมีเว้นบ้างสลับกันไป
สมัยที่ท่านศึกษาอยู่นั้น ใช้หนังสือขอมที่จารลงในใบลาน นักเรียนก็เรียนไม่เหมือนกัน บางองค์เรียนธรรมบทบั้นต้น บางองค์เรียนบั้นปลาย ยิ่งเรียนมากหนังสือที่เอาไปเรียนก็เพิ่มมากขึ้น พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ท่านพยายามไม่ขาดเรียน แบกหนังสือข้ามฟาก ลงท่าประตูนกยูงวัดพระเชตุพนฯ ไปขึ้นท่าวัดอรุณฯ เข้าศึกษาในสำนักวัดอรุณฯ ท่านเล่าให้ฟังว่าลำบากอยู่หลายปี ความเพียรของท่าน ทำให้คุณยายนวมชาวประตูนกยูง เกิดความเลื่อมใส ปวารณาทำปิ่นโตถวายทุกวัน นับแต่นั้นมาความลำบาก ในเรื่องภัตตาหารของท่านก็หมดไป
ท่านเดินทางไปศึกษาในสำนักต่างๆ มาหลายปี ครั้นต่อมาข้าหลวงในวังกรมหมื่นมหินทโรดม เลื่อมใสในท่าน เวลาเพลช่วยจัดภัตตาหารมาถวายทุกวัน ทำให้พระเดชพระคุณหลวงปู่ สามารถตั้งโรงเรียนขึ้นเอง ที่วัดพระเชตุพนฯ โดยเริ่มเรียนธรรมบทก่อน ต่อมาการศึกษาบาลีเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม โดยทางคณะสงฆ์จัดหลักสูตรการศึกษา ให้เริ่มเรียนไวยากรณ์ก่อนเป็นลำดับไป
การเข้าถึงวิชชาธรรมกาย
หลวงปู่วัดปากน้ำ ท่านรักการปฏิบัติธรรมมาก ในระหว่างที่ท่านศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่นั้น ท่านก็ยังคงปฏิบัติธรรมทุกวันตลอดมา วันไหนมีเวลา ท่านมักจะไปศึกษาวิปัสสนาธุระจาก พระอาจารย์ในสำนักต่างๆ อยู่เสมอ เช่น ท่านเจ้าคุณสังวรานุวงศ์เถร(เอี่ยม) วัดราชสิทธาราม ท่านเจ้าคุณพระมงคลทิพมุนี (มุ้ย) วัดจักรวรรดิฯ พระครูญาณวิรัติ (โป๊) วัดพระเชตุพนฯ พระอาจารย์ปลื้ม วัดเขาใหญ่ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี พระอาจารย์สิงห์ วัดละครทำ ธนบุรี ท่านเล่าว่า เคยปฏิบัติธรรมตามแบบพระอาจารย์สิงห์ จนได้ดวงสว่างขนาดประมาณเท่าฟองไข่แดงของไก่ ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย พระอาจารย์สิงห์ จึงมอบหมายให้ท่าน เป็นอาจารย์ช่วยสอนผู้อื่นต่อไป แต่ท่านไม่รับเพราะเห็นว่าตนเองยังมีความรู้น้อย จะไปสอนผู้อื่นได้อย่างไร
ในพรรษาที่ ๑๑ หลวงปู่วัดปากน้ำได้ไปจำพรรษา ณ วัดโบสถ์บน ต.บางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ท่านได้มีความคิด ที่จะกระทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ ตั้งแต่เช้าตรู่ “เราบวชมาจวนจะครบ ๑๒ พรรษาแล้ว วิชชาของพระพุทธเจ้าเรายังไม่ได้บรรลุเลย ทั้งที่การศึกษาของเรา ก็ไม่เคยขาดเลยสักวันทั้งคันถธุระ และวิปัสนาธุระ อย่าเลย ควรจะรีบกระทำความเพียร ให้รู้เห็นของจริง ในพระพุทธศาสนาเสียที” เมื่อกลับจากบิณฑบาตแล้ว ท่านก็รีบจัดการภารกิจต่าง ๆ ให้เรียบร้อย เพื่อจะได้ไม่มีเรื่องกังวลใจ เสร็จแล้วก็ได้เข้าเจริญภาวนาในอุโบสถ โดยตั้งใจว่า หากไม่ได้ยินเสียงกลองเพล จะไม่ยอมลุกจากที่ เมื่อตั้งใจแล้วก็หลับตาภาวนา “สัมมา อะระหัง” เรื่อยไปจนกระทั่งความปวดเมื่อย และอาการกระสับกระส่ายเริ่มติดตามมา จิตก็ซัดส่ายกระวนกระวาย จนเกือบจะหมดความอดทน แต่ได้ตั้งสัจจะไว้แล้ว จึงทนนั่งต่อไป เมื่อไม่สนใจความปวดเมื่อยของสังขาร ในที่สุดใจก็ค่อยๆ สงบลงทีละน้อย แล้วรวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน เห็นเป็นดวงใสบริสุทธิ์ ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ใจชุ่มชื่นเบิกบานอย่างบอกไม่ถูก
เย็นวันนั้น หลังจากได้ฟังพระปาฏิโมกข์กับเพื่อนสหธรรมิกแล้ว ท่านได้รีบทำภารกิจส่วนตัว สรงน้ำให้ร่างกายสดชื่นดีแล้ว จึงเข้าไปในอุโบสถแต่เพียงรูปเดียว เมื่อกราบพระประธานแล้ว ก็ได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า “ขอให้พระองค์ทรงพระเมตตา โปรดประทานธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว แก่ข้าพระพุทธเจ้า แม้จะเป็นเพียงส่วนน้อยนิดก็ยินดี ถ้าหากการบรรลุธรรมของข้าพระองค์ฯ จักเกิดโทษแก่พระศาสนา ก็ขออย่าได้ทรงประทานเลย แต่ถ้าจะเป็นคุณแก่พระศาสนาแล้ว ขอได้โปรดประทานแก่ข้าพระองค์ฯ ด้วยเถิด ข้าพระพุทธเจ้าจะขอรับเป็นทนายพระศาสนาต่อไปจนตลอดชีวิต”
เมื่อได้ตั้งสัตยาธิษฐานแล้ว ท่านก็เริ่มนั่งหลับตา ขณะนั้นมีมดอยู่ในช่องแผ่นหินที่ท่านนั่ง กำลังไต่ขึ้นมารบกวนท่าน จึงหยิบขวดน้ำมันก๊าดขึ้นมา เพื่อจะทากันมด แต่แล้วก็คิดได้ว่า ชีวิตของเรา เราได้สละแล้ว เพื่อการบำเพ็ญเพียร แต่เหตุไฉนจึงยังกลัวมดอยู่อีก จึงวางขวดน้ำมันก๊าดลง เจริญกัมมัฏฐานต่อไป จนถึงยามดึกจึงได้เริ่มเห็นดวงปฐมมรรค หรือดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ เมื่อได้รู้เห็นธรรมะแล้ว ท่านจึงได้เข้าใจว่า “พระธรรมนี้เป็นของลึกซึ้งยิ่งนัก ยากที่มนุษย์จะเข้าถึง การจะเข้าให้ถึงได้ต้องรู้ตรึก รู้นึก รู้คิด ต้องหยุดเป็นจุดเดียวกัน เมื่อหยุดแล้วจึงดับ เมื่อดับแล้วจึงเกิด ถ้าไม่ดับ ก็ไม่เกิดนี่เป็นของจริง ของจริงต้องอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนนี้ เป็นไม่เห็นเด็ดขาด”
เมื่อมองเรื่อยไป ก็เห็นดวงใหม่ผุดซ้อนขึ้นมาแทนที่ดวงเก่า แต่ใสสว่างมากยิ่งขึ้น จนในที่สุดก็เห็นกายต่างๆ ตามลำดับจนกระทั่งถึง ธรรมกาย
การเผยแผ่วิชชาธรรมกาย
เมื่อเข้าถึงพระธรรมกายแล้ว ท่านมุ่งมั่นในการนั่งเจริญภาวนา เพื่อไปให้ถึงที่สุด เมื่อยิ่งปฏิบัติก็ยิ่งลึกซึ้ง จนกระทั่งออกพรรษา และรับกฐินแล้ว ท่านจึงได้ลาเจ้าอาวาสวัดโบสถ์บน ไปพักที่วัดบางปลาซึ่งท่านเห็นในสมาธิว่า จะมีผู้บรรลุธรรมกาย ตามอย่างท่านได้ ท่านได้สอนภาวนาที่วัดบางปลา จนมีพระภิกษุผู้สามารถเจริญรอยตามท่านได้ ๓ รูปและคฤหัสถ์ อีก ๔ คน หนึ่งในนั้นคือพระสังวาลย์ ท่านได้พาพระสังวาลย์ ซึ่งเข้าถึงธรรมกายไปสอนธรรมที่ วัดบรมนิวาส จนมีผู้เข้าถึงธรรมกายด้วยเช่นกัน
เมื่อรับกฐินแล้ว ท่านได้ไปปฏิบัติศาสนกิจที่วัดประตูสาร ด้วยหวังว่าจะสนองพระคุณพระอุปัชฌาย์ของท่าน แต่พระอุปัชฌาย์ท่านมรณภาพไปแล้ว หลวงปู่จึงได้อยู่แสดงธรรมเทศนา โปรดญาติโยมที่นั่นเป็นเวลา ๔ เดือน จนมีผู้ศรัทธาท่านเป็นจำนวนมาก จากนั้นท่านก็ได้เดินทางกลับวัดพระเชตุพนฯ โดยได้พาพระภิกษุ ๔ รูปมาเรียนพระปริยัติด้วย
เป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ
อยู่มาไม่นาน ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฏก วัดพระเชตุพนฯ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของหลวงปู่วัดปากน้ำ ได้ขอร้องให้ท่านไปจำพรรษาที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ซึ่งในขณะนั้นไม่มีเจ้าอาวาส ท่านจำต้องรับ เพราะไม่อยากขัดใจ ท่านได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็น พระครูสมุห์ฐานานุกรม มีพระติดตามมาจำพรรษาที่วัดปากน้ำด้วย ๔ รูป
ณ ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญนี่เอง การปกครองดูแลวัด เป็นไปด้วยความยากลำบาก ทั้งพระภิกษุและชาวบ้านในถิ่นนั้น ที่เสียผลประโยชน์ต่อต้านท่าน พวกที่ต่อต้านร่วมกันใส่ร้ายป้ายสีท่าน บ้างก็จะทำร้ายท่าน ครั้งหนึ่ง มีนักเลงอันธพาล ก่อกวน เมื่อเวลาประมาณสองทุ่ม หลวงปู่วัดปากน้ำท่านปฏิบัติศาสนกิจเสร็จแล้ว ก็ออกมาจากศาลาเพื่อกลับกุฏิ คนร้ายได้ใช้อาวุธปืนยิงท่าน ถูกจีวรทะลุ ๒ รู แต่หลวงปู่ไม่เป็นอะไร ท่านมีคติว่า “พระเราต้องไม่สู้ ต้องไม่หนี ชนะทุกที่”
การตั้งโรงงานทำวิชชา
แม้ภารกิจด้านการบริหาร การปกครอง และการพัฒนาวัดปากน้ำภาษีเจริญ จะมีมากสักเพียงใดก็ตาม แต่ท่านก็ไม่เคยละทิ้งการปฏิบัติธรรม รวมถึงการเผยแผ่วิชชาธรรมกายด้วย เพราะท่านถือว่า เป็นภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่ง ในขณะที่ท่านศึกษาค้นคว้าวิชชาธรรมกาย และสั่งสอนผู้อื่นให้บรรลุธรรมกายไปด้วยนั้น ท่านได้คัดเลือกผู้ที่มีผลการปฏิบัติดีเยี่ยม ทั้งที่เป็นพระภิกษุ สามเณร แม่ชี อุบาสก อุบาสิกา จำนวนหนึ่ง เพื่อรวมทีมศึกษา ค้นคว้าวิชชาธรรมกาย ที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไป เรียกว่า การทำวิชชาปราบมาร
และเพื่อให้การทำงานค้นคว้าวิชชาธรรมกาย เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในสถานที่ที่เป็นสัดเป็นส่วน ในปี ๒๔๗๔ ขณะที่ท่านอายุได้ ๔๗ ปี ท่านจึงได้สร้างอาคาร เพื่อใช้ในการศึกษาค้นคว้าวิชชาธรรมกายขึ้น ภายในวัดปากน้ำภาษีาเจริญ ในสมัยนั้นเรียกว่า “โรงงานทำวิชชา”
โรงงานทำวิชชาในสมัยนั้น ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างพระอุโบสถกับวิหาร ใกล้หอไตรเป็นเรือนไม้ ๒ ชั้น ภายในระหว่างชั้นบนกับชั้นล่าง มีท่อต่อถึงกัน สำหรับหลวงปู่ใช้สั่งวิชชาลงมาทางท่อนี้ ซึ่งผู้อยู่เวรก็จะได้ยินโดยทั่วกัน และจะเจริญวิชชาตามคำสั่งนั้น ๆ มีผู้อยู่เวรทำวิชชากะละประมาณ ๑๐ คน ตัวเรือนโรงงานนี้ ขนาดไม่กว้างใหญ่นัก ชั้นล่างตั้งเตียงเป็น ๒ แถวซ้ายขวา ข้างละ ๖ เตียง ตรงกลางเว้นเป็นทาง พอให้เดินได้สะดวก ชั้นล่างสำหรับฝ่ายแม่ชีและอุบาสิกา ให้นั่งเจริญวิชชา และเป็นที่พักอาศัยด้วย มีผู้อยู่เวรที่ไม่พักในโรงงานบ้าง แต่ก็เพียงไม่กี่คน ระหว่างชั้นบนกับชั้นล่าง ไม่มีบันไดเชื่อมต่อกัน และทางเข้าออก ก็แยกกันคนละทาง ชั้นบนมีทางเข้าต่างหาก ใช้เป็นที่เจริญวิชชาสำหรับหลวงปู่และพระสงฆ์สามเณร ที่อยู่เวรทำวิชชา
ภายหลัง มีโรงงานทำวิชชาเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ปัจจุบันคือวิหารอยู่ด้านหลังหอสังเวชนีย์มงคลเทพเนรมิต ที่ประดิษฐานร่างของหลวงปู่ เป็นห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง ยาวพอสมควร ตรงกลางมีฝากั้นแบ่งเป็น ๒ ห้อง แยกขาดจากกัน โดยมีประตูเข้าออกคนละทาง ส่วนหน้าเป็นที่สำหรับแม่ชีกับอุบาสิกา ส่วนหลังเป็นที่สำหรับหลวงปู่ และพระสงฆ์สามเณร เวลาสั่งวิชชา หลวงปู่จะพูดผ่านช่องสี่เหลี่ยม ของฝากั้นห้องนี้ ทั้งสองฝ่ายจึงเพียงแต่ได้ยินเสียงซึ่งกันและกันเท่านั้น
วิชชาที่หลวงปู่สั่งไว้ในแต่ละวัน ได้มีการจดบันทึกไว้ในสมุดปกแข็งรวม ๓ เล่ม เล่มที่ ๒ มีผู้ยืมไปและมิได้นำส่งคืน คงเหลือเล่ม ๑ และเล่ม ๓ ได้ถวายให้ท่านเจ้าคุณพระภาวนาโกศลเถร (วีระ คุณตฺตโม) ซึ่งมีปฏิปทาอย่างมั่นคง ที่จะถือเพศบรรพชิต และมุ่งมั่นในการเจริญภาวนาธรรม ตามรอยพระเดชพระคุณหลวงปู่ ควรที่จะได้เก็บรักษาวิชชาของหลวงปู่ ที่ได้บันทึกไว้ให้อนุชนรุ่นหลังสืบต่อไป
การเข้าเวร
ผู้ที่เห็นเป็นวิชชาธรรมกายแล้ว จะต้องผลัดกันเข้าเวรปฏิบัติภาวนากันตลอด ๒๔ ชั่วโมง ในโรงงานทำวิชชาที่หลวงปู่จัดไว้ให้ ปัจจุบันก็ยังคงเรียกโรงงานทำวิชชาอยู่
ระยะที่ประเทศไทยอยู่ในภาวะสงคราม (สงครามโลกครั้งที่ ๒) พระเดชพระคุณหลวงปู่ ได้จัดให้มีการเข้าเวรทำวิชชา ๒ ชุดแบ่งเป็น ๔ ผลัด ผลัดละ ๖ ชั่วโมง กะแรกเข้าเวร ๖ โมงเช้า และออกประมาณเที่ยง แล้วกะที่สองจะเข้ารับเวรต่อ กะแรกจะกลับมารับเวรอีกครั้งในเวลา ๖ โมงเย็นและจะส่งเวรให้กะที่สองในเวลาเที่ยงคืน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเช่นนี้ตลอด ๒๔ ชั่วโมงมิได้ขาด
เมื่อสงครามสงบลง พระเดชพระคุณหลวงปู่ ได้ปรับเวลาการเข้าเวรในโรงงานเป็น ๓ ชุด ผลัดละ ๔ ชั่วโมงแทน ส่วนการสอนธรรมะนั้น หลวงปู่จะกำหนดตัวบุคคล ที่ว่างจากเวรทำวิชชาในโรงงาน มาเป็นผู้สอน เช่น แม่ชีญาณี ศิริโวหาร ระหว่างสงครามจะทำการภาวนากันที่ “บ้านน้าสาย” ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ พระวิหารในเวลาค่ำ เมื่อสิ้นสุดสงคราม ได้เปลี่ยนที่สอนเป็นที่วิหาร ในเวลาบ่าย ๒ โมง
หลวงปู่ตั้งเป็นกฏเคร่งครัดมากว่า ห้ามบุคคลที่ไม่ได้วิชชาธรรมกาย เข้าไปในโรงงานท่านมีเหตุผลหลายประการ ได้แก่
1.บุคคลภายนอกอาจเข้าไปทำเสียงรบกวน เป็นการทำลายสมาธิของผู้ที่กำลังปฏิบัติกิจภาวนา จะเกิดบาปติดตัวผู้นั้นไปโดยมิได้ตั้งใจ
2.วิชชาธรรมกายนั้น เป็นวิชชาที่ละเอียดลึกซึ้งมาก ถ้าผู้ที่ยังไม่รู้ไม่เห็น ไม่เข้าใจยังปฏิบัติไม่เป็นแล้ว ไปได้ยินได้ฟังเข้าก็จะทำให้เกิดวิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัย ทำให้เกิดความคิดสับสน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในตอนต่อวิชชา หลวงปู่ท่านทราบดีว่า อันตรายจะเกิดแก่บุคคลที่ยังไม่รู้ไม่เข้าใจดีพอ
3.หลวงปู่ท่าน ไม่ต้องการให้บุคคลภายนอกเข้าไปชวนพวกที่ได้ธรรมกายพูดคุย ด้วยเรื่องไร้สาระ ท่านบอกว่าเสียเวลาโดยใช่เหตุ
การตั้งโรงครัว
เมื่อหลวงปู่มาเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ท่านได้ดำเนินการ ก่อตั้งโรงครัวขึ้นเพี่อถวายอาหารแก่พระภิกษุสามเณร เพราะสมัยที่ท่านเคยอยู่วัดพระเชตุพนฯ และประสบความลำบาก ในเรื่องอาหารบิณฑบาต ท่านจึงตั้งมโนปณิธานไว้ว่า เมื่อมีโอกาส จะตั้งโรงครัวเลี้ยงอาหารพระภิกษุสามเณร เพื่อจะได้มีเวลาและโอกาส ในการศึกษาพระปริยัติธรรม และปฏิบัติธรรมได้เต็มที่ และเป็นการสะดวกแก่ทายกทายิกา ที่ต้องการจะทำบุญถวายภัตตาหาร แก่พระภิกษุสามเณรทั้งวัดด้วย เพียงแต่แสดงความประสงค์ ที่จะเป็นเจ้าภาพและนำปัจจัยมามอบให้แก่ไวยาวัจกร ทางวัดจะมีแม่ครัวหุงหาอาหารให้เสร็จเรียบร้อย ทั้งมื้อเช้าและมื้อเพล เจ้าภาพเพียงแต่มาประเคนภัตตาหารเท่านั้น
หลวงปู่ได้ชี้แจงถึงอานิสงส์ ของการถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสามเณรว่า จะได้บุญยิ่งใหญ่ไพศาล เพราะพระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญ พระสงฆ์เป็นประมุข เป็นประธานของผู้ต้องการบำเพ็ญบุญ ถ้าต้องการบุญ ก็ให้ถวายในหมู่สงฆ์ ไม่ควรเจาะจงพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ให้ทำใจให้เป็นกลาง หลวงปู่ท่านเน้นว่าเป็นทายกต้องฉลาด โง่ไม่ได้ เพราะถ้าถวายเจาะจงเสียแล้ว ผลบุญก็ลดน้อยลงไป คนฉลาดต้องถวายให้เป็นกลาง จะได้ผลบุญยิ่งใหญ่ไพศาลที่เรียกว่า สังฆทาน และได้ชื่อว่าวางหลักพระพุทธศาสนา เพราะศาสนาของพระบรมศาสดา จะดำรงอยู่ได้ก็เพราะอาศัยความเป็นกลาง ภิกษุสามเณร ก็ต้องประพฤติในพระธรรมวินัยให้เป็นกลาง ปฏิบัติให้เป็นกลาง ไม่เข้าข้างตน ไม่เข้าข้างบุคคลอื่น อุบาสก อุบาสิกาบริจาคทานในพระพุทธศาสนาให้เป็นกลาง ไม่ค่อนข้างตน หมู่ตน พวกตน อย่างนี้ได้ชื่อว่า บริจาคถูกทางสงฆ์ ถูกเป้าหมายของบุญ
หลวงปู่ท่านนำกล่าวถวายสังฆทานว่า “ทานที่ท่านถวายให้ให้เป็นกลาง มิให้เจาะจงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด มีใจความตามภาษาบาลีว่า
“กาเล ททนฺติ สปญฺญา วทญฺญู วีตมจฺฉรา ฯลฯ ปติฏฺฐา โหนฺติ ปาณินฺนติ”
ทายกทายิกาทั้งหลาย ผู้ประกอบด้วยปัญญา ปราศจากความตระหนี่ เลื่อมใสแล้วในพระอริยบุคคล ในพระอริยสงฆ์ เป็นผู้เลื่อมใสแล้วในพระสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้ตรงคงที่ ถวายทาน ทำให้เป็นทาน ที่ตนถวายแล้วโดยกาล ในสมัยทักขิณาทานของทายกนั้น ย่อมเป็นคุณชาติ มีผลไพบูลย์ดุจน้ำเต็มเปี่ยมในห้วงมหาสมุทร เพราะบริจาคทานในเขตบุญ
หลวงปู่ท่านได้แนะนำศิษย์ “ให้เป็นบุคคลที่ตนเองก็ชอบทำบุญ และชักชวนให้ผู้อื่นทำด้วยทั้งกำลังกาย และกำลังทรัพย์ ให้รู้จักเลือกผู้ที่จะทำบุญด้วย ให้ทุกคนพยายามรักษามนุษย์สมบัติ ท่านอธิบายว่าคนเรานั้น จะอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ ต้องมีบิดามารดา ญาติพี่น้อง สามีภรรยา บุตร บริวาร อย่างที่เรามักเรียกกันว่า “มีพรรคมีพวก” คนที่มีพรรคพวกดีนั้น ต้องประกอบกรรมดีร่วมกันมาแล้ว ท่านจึงสอนว่าถ้าเห็นคนดีๆ เขาบริจาคทานกันละก็ให้พยายามไปร่วมกับเขา ไม่จำเป็นต้องร่วมด้วยเงินก็ได้ เพราะคนบางคนเขามีทรัพย์สิน เงินทองเหลือเฟืออยู่แล้ว เขาต้องการให้มีคนมาช่วยเท่านั้น เราก็ไปช่วยด้วยแรง เพื่อว่าภพชาติหน้าจะได้มีพรรคพวกที่เป็นคนดี การที่จะมีมนุษย์สมบัติดีนั้นก็ด้วยสาเหตุ ๒ ประการ คือ ปุพฺเพกตปุญฺญตา การร่วมบุญกันมาในอดีตชาติ และการร่วมบุญในภพชาติปัจจุบัน
สมัยแรก ที่ก่อตั้งโรงครัว หลวงปู่ท่านใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวเป็นค่าใช้จ่าย และมีโยมพี่สาวของท่าน นำข้าวสารและอาหารแห้งมาถวายเป็นประจำ ถ้าวันใดไม่มีผู้ใดมารับเป็นเจ้าภาพ หลวงปู่ก็ใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัว เป็นค่าภัตตาหาร เลี้ยงพระภิกษุสามเณรแทน ซึ่งเป็นวัดเดียวในประเทศไทย ที่พระภิกษุไม่ต้องออกบิณฑบาต ทำให้ผู้ที่ยังขาดความเข้าใจในพระวินัยอย่างแจ่มแจ้ง ประณามว่าพระภิกษุที่วัดปากน้ำ ย่อหย่อนในพระธรรมวินัย และขาดนิสัยอย่างหนึ่งในนิสัย ๔ อย่าง อันเป็นหลักปฏิบัติของบรรพชิต คือ การฉันอาหารบิณฑบาต ส่วนผู้ที่เข้าใจในคำสอนอย่างแจ่มชัดแล้ว จะไม่กล่าวอย่างนั้นเลย เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพุทธานุญาตไว้ว่า พระภิกษุสามเณรพึงงดเว้น ถือนิสัยในการออกบิณฑบาตได้ เมื่อพระภิกษุสามเณรมีอดิเรกลาภเกิดขึ้น เช่น มีผู้ศรัทธานิมนต์ฉันจังหัน หรือมีทายกทายิกา จัดถวายในวันอุโบสถ ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ นั้นมีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาประมาณ ๑๕๐ รูป และเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ จนถึง ๖๐๐ รูปเศษ ถึงกระนั้นหลวงปู่ท่านก็ไม่เคยวิตกกังวลกับภาระนี้ ท่านเคยพูดเสมอว่า “กินคนเดียวไม่พอกิน กินมากคนกินไม่หมด”
ท่านมุ่งมั่นจะบำเพ็ญบารมีอย่างจริงจัง ท่านเคยพูดถึงอานิสงส์ของการบำเพ็ญทานไว้ว่า “ทานนั่นแหละ จะเป็นชนกกรรมนำไปเกิดในสกุลที่มั่งมีมาก เมื่อให้ทานแล้ว ผู้ยากขัดสนก็สมบูรณ์ อ้ายความสมบูรณ์ ที่ให้แก่เขาน่ะ กลับมาเป็นของตัวมากน้อยเท่าใด กลับมาเป็นของตัวหมด ทานนี่แหละเป็นข้อสำคัญนัก เพราะฉะนั้น บัดนี้วัดปากน้ำมีพระภิกษุสามเณรมารวมกันอยู่มาก ก็เพราะอาศัยเจ้าอาวาส บริจาคทาน บริจาคมานาน ๓๗ ปีแล้ว”
การพัฒนาวัดของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ
๑. การปกครอง
ท่านบริหารงาน โดยใช้หลักการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับพระภิกษุสามเณร ตลอดจนผู้ที่อยู่ในอุปการะ ดุจพ่อปกครองบุตรชายหญิง อันเกิดจากอกของตนเอง ให้ความเสมอภาค โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ใครผิดก็ว่าไปตามผิด ใครถูกก็ยกย่องชมเชย ใครต้องการความช่วยเหลือจากท่าน ท่านก็ช่วยอุปการะปัดเป่าให้คลายทุกข์ ด้วยความเมตตาปราณี แม้แต่ผู้ที่ออกจากความปกครองของท่านไปแล้ว ท่านยังคอยติดตามถามข่าว ด้วยความเป็นห่วงเกรงว่าจะหลงลืมโอวาทที่ดีงาม ที่เคยกรุณาสั่งสอนไว้ ความเอื้ออาทรเหล่านี้ทำให้บรรดาลูกศิษย์ ที่เคยอยู่ในความปกครองของท่าน พากันเรียกท่านจนติดปากว่า “หลวงพ่อ”
๒. การศึกษา
เมื่อท่านมาเป็นเจ้าอาวาส ทำการปกครองวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระภิกษุสามเณรอยู่ในลักษณะย่อหย่อนต่อพระธรรมวินัย และไร้การศึกษาเสียเป็นส่วนมาก ในฐานะที่ท่าน เป็นผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย และการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ผู้ที่อยู่ในการปกครองของท่าน จึงต้องเลือกเรียนสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งอย่างจริง ๆ ใครไม่ศึกษาไม่ปฏิบัติ ก็ให้ทำหน้าที่บริหารงานในวัด
๒.๑ แผนกคันถธุระ ท่านได้ตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นในวัด โดยจัดหาทุนเอง และได้จัดการศึกษานักธรรมและบาลีขึ้น เมื่อมีผู้มาศึกษามาก ในที่สุดก็ได้รับการยกฐานะให้เป็นสำนักเรียนโดยตรง และสำนักของวัดปากน้ำ ภาษีเจริญก็ได้เจริญขึ้นเรื่อยๆ เพราะท่านคอยส่งเสริมเอาใจใส่เรื่องการศึกษาของพระภิกษุ-สามเณรอยู่เสมอ พระภิกษุ-สามเณรที่สอบผ่านบาลี ท่านจะกล่าวชมเชย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งยังหารางวัลให้เป็นกำลังใจอีกด้วย
สำหรับการแสดงพระธรรมเทศนาทางปริยัตินั้น ท่านจะเป็นผู้แสดงเองในวันอาทิตย์ และวันธรรมสวนะ ที่พระอุโบสถเป็นประจำมิได้ขาด รวมทั้งวันอื่น ๆ ที่มีเจ้าภาพมาถวายภัตตาหาร แล้วอาราธนาให้ท่านแสดงธรรม ท่านจะสอนให้พุทธศาสนิกชน เลื่อมใสในการบำเพ็ญทาน การรักษาศีลและการเจริญภาวนา โดยยกชาดก และเรื่องจากธรรมบท มาเป็นอุทาหรณ์ ลงท้าย ด้วยการสอนเจริญภาวนา ทำให้ผู้ฟังมีความเข้าใจเรื่องราว ในพระพุทธศาสนาอย่างละเอียดลึกซึ้ง และได้รับความสนุกสนานด้วย
การแสดงธรรม ท่านยังได้จัดให้พระภิกษุสามเณร หัดทำการเทศนาเดี่ยวบ้าง หัดเทศน์ปุจฉาวิสัชนา ๒ – ๓ ธรรมาสน์บ้าง แล้วจัดให้ทำการแสดงพระธรรมเทศนา ณ ศาลาการเปรียญ ตลอดฤดูการเข้าพรรษา จากการฝึกฝนนี้ ทำให้พระภิกษุสามเณรของวัดปากน้ำหลายรูป ได้เป็นพระธรรมกถึก และได้รับการอาราธนาให้ไปแสดงพระธรรมเทศนานอกสำนักอยู่เสมอๆ
๒.๒ แผนกวิปัสสนาธุระ เป็นวิชชาที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ ได้ศึกษาค้นคว้ามา ตั้งแต่เริ่มอุปสมบทวันแรก เมื่ออายุ ๒๒ ปี เป็นต้นมาจนกระทั่งอายุ ๗๐ ปี ขณะที่ท่านเปิดสอนปริยัติ ท่านก็สอนปฏิบัติ ควบคู่ไปด้วย มีทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ มาปฏิบัติธรรมกันเป็นจำนวนมาก ทำให้วัดปากน้ำในครั้งนั้น มีชื่อเสียงไม่เฉพาะเพียงแต่ด้านปริยัติธรรมเท่านั้น ในด้านวิปัสสนาก็มีชื่อเสียงมากเช่นกัน เพราะมีผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรม และเข้าถึงธรรมกายเป็นจำนวนมาก
การแสดงพระธรรมเทศนา ทางปฏิบัติเฉพาะในวัดนั้น พระเดชพระคุณท่าน จะเทศน์สอนทุกวันพฤหัสบดี ซึ่งจะมีพระภิกษุสามเณรจากวัดอื่น ตลอดจนอุบาสกอุบาสิกามาศึกษากันอย่างคับคั่ง ซึ่งท่านถือเป็นวัตรปฏิบัติของท่าน ไม่ยอมขาดเลย เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยจริงๆ จึงจะยอมขาด เท่าที่ปรากฏมาท่านเคยขาดกิจกรรมนี้ไม่เกิน ๓ ครั้ง
ได้รับแต่งตั้งสมณศักดิ์
•ในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ท่านได้รับสมณศักดิ์ เป็น พระครูสมณธรรมสมาทาน
•ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น พระราชาคณะสามัญที่ พระภาวนาโกศลเถร ถือพัดยอดพื้นขาวอันเป็นตำแหน่งวิปัสสนาธุระ
•ในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้รับพระราชทานพัดยศเทียบเปรียญ
•ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น พระมงคลราชมุนี
•ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น พระมงคลเทพมุนี
อาพาธและมรณภาพ
ก่อนที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ จะมรณภาพประมาณ ๕ ปี ท่านได้เรียกประชุมศิษย์ทั้งใน และนอกวัดเป็นกรณีพิเศษที่ศาลาการเปรียญ เพื่อแจ้งให้ทุกคนทราบว่า ท่านจะถึงกาลมรณภาพในอีก ๕ ปีข้างหน้า กิจการใดที่ท่านได้ดำเนินไว้แล้ว ขอให้ช่วยกันทำกิจการนั้น ๆ อย่าทอดทิ้ง ท่านได้ชี้แจงโครงการพัฒนาวัดปากน้ำ ให้คณะศิษย์ช่วยกันดำเนินต่อไปให้สำเร็จ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการเผยแผ่วิชชาธรรมกาย ท่านเห็นเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ท่านบอกว่า ต่อไปวัดปากน้ำจะเจริญรุ่งเรืองใหญ่โต มีลูกศิษย์หลายคน ได้อาราธนาขอไม่ให้ท่านมรณภาพ ท่านตอบว่าไม่ได้ อีก ๕ ปี ท่านจะไม่อยู่แน่ ๆ แล้ว
นับตั้งแต่หลวงปู่วัดปากน้ำ ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำเป็นต้นมา ท่านต้องรับภาระหนักโดยตลอด ทั้งด้านการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม การสอนและเผยแผ่วิชชาธรรมกาย การจัดตั้งโรงครัว การบูรณปฏิสังขรณ์ เสนาสนะต่างๆ รวมทั้งช่วยเหลือผู้คน ที่มาขอพึ่งบารมีของท่าน เพื่อบรรเทาทุกข์ยาก ท่านได้ทุ่มเทชีวิตเพื่องานพระพุทธศาสนา จนมีเวลาพักผ่อนน้อยมาก ทำให้สุขภาพทางกายทรุดโทรม แต่ทางด้านจิตใจ ยังคงแข็งแกร่งเช่นเดิม ท่านไม่ยอมทอดทิ้งธุระ ที่เคยปฏิบัติเป็นกิจวัตร ยังคงออกเทศน์สอนนั่งภาวนา แจกพระของขวัญตามปกติ ท่านไม่ชอบทำตนให้เป็นภาระของผู้อื่น แม้เวลาอาพาธ ก็ไม่ยอมให้ใครพยุงลุกนั่ง เรื่องภัตตาหารก็ไม่จู้จี้ ไม่เรียกร้องในเรื่องการขบฉัน ใครทำมาถวายอย่างไรก็ฉันอย่างนั้น
เมื่อท่านอาพาธหนัก ได้เรียกศิษย์ให้ดำเนินการสอน เผยแผ่วิชชาธรรมกายต่อไป และสั่งว่า เมื่อท่านมรณภาพแล้ว ให้เก็บสรีระของท่านไว้ไม่ให้เผา
พระเดชพระคุณหลวงปู่ ท่านถึงแก่ มรณภาพอย่างสงบ สมดังเช่นจอมทัพธรรม ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๒ เวลา ๑๕.๕๐ น. สิริรวมอายุได้ ๗๔ ปี ๓ เดือน ๒๔ วัน มีอายุพรรษาได้ ๕๓ พรรษา