โดยปกติแล้ว มนุษย์ย่อมจะเกลียดความทุกข์ และมุ่งแสวงหาความสุขให้กับตนเอง แต่ความสุขที่ต่างคนต่างแสวงหานั้น ส่วนใหญ่เป็นเพียงความสุขที่ให้ผลชั่วครั้งชั่วคราว หรือเป็นความสุขภายนอก ที่ยังไม่สามารถทำให้จิตใจคลายจากรากเหง้าของความทุกข์ และนำไปสู่ความสุขที่ถาวรได้
ทั้งนี้ เพราะมนุษย์ส่วนใหญ่นั้น ยังไม่เข้าใจว่า ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิตใจนั้น จะต้องแก้ที่จิตใจ หาใช่แก้ที่ร่างกายหรือสิ่งที่เป็นปัจจัยภายนอก เช่น มีการเสพยาเสพติด การเที่ยวเตร่เฮฮา ซึ่งเป็นการทำให้จิตใจเพลิดเพลิน ลืมความทุกข์ไปชั่วขณะ แต่ในที่สุดก็หาได้ทำให้พ้นจากความทุกข์ดังกล่าวได้
ดังนั้น การทำสมาธิ(Meditation) จึงเป็นวิธีการที่สำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา และนำไปสู่การพ้นจากความทุกข์ได้อย่างแท้จริง ดังจะพบว่าปัจจุบัน ผู้คนในสังคมต่างๆ โดยเฉพาะในสังคมของประเทศตะวันตก เริ่มให้ความสนใจกับการฝึกสมาธิกันแพร่หลายมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม การฝึกสมาธิที่มีการสอนกันโดยทั่วไปนั้น มีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน เช่น เพื่อการแสดงฤทธิ์ทางใจในรูปของการปลุกเสก ร่ายคาถา อาคม เป็นต้น ซึ่งย่อมทำให้ผู้คนเกิดศรัทธา ชื่นชม ยกย่องในความเก่งกล้าสามารถ หรือการฝึกสมาธิบางประเภทก็มุ่งเพื่อการเจริญสติ ก่อให้เกิดปัญญา นำไปสู่ทางพ้นทุกข์
สมาธิที่มีการสอนในโลกนี้สามารถจัดแบ่งได้หลายประเภท ตามหลักปฏิบัติ วิธีการ หรืออื่นๆมากมาย ในเบื้องต้นนี้ สมาธิสามารถจัดแบ่งเป็นประเภทได้ ดังต่อไปนี้ คือ
1.สัมมาสมาธิ
2.มิจฉาสมาธิ