ว่าด้วยกำลัง ๗ ประการ

Spread the love

พระสุตตันตปิฎกมหาวิตถารนัย
คัมภีร์อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต
ว่าด้วยกำลัง ๗ ประการ
(ฉบับ ส.ธรรมภักดี)

กัณฑ์ที่ ๑
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
เอวมเม สุตํ ฯ เอกํ สมยํ ภควา สาวตฺถิยํ วิหรติ เชตวเน อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเมติ.
ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้แสดงคัมภีร์อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต กัณฑ์ที่ ๑ ว่าด้วยกำลัง ๗ ประการ สืบต่อไป เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา และพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ตลอดกาลนาน หาประมาณมิได้

บาลี
ดำเนินความตามวาระพระบาลี อันมีในพระสูตรที่ ๑ ในวรรคที่ ๑ ปฐมปัณณาสก์ คัมภีร์อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ซึ่งว่าด้วยธรรมหมวดละ ๗ นั้นว่า ข้าพเจ้าผู้ชื่อว่าอานนท์ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ กล่าวคือ ครั้งหนึ่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวนาราม กรุงสาวัตถีฯ ในครั้งนั้น พระองค์ได้ทรงแสดงให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ ไม่เป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ฯ ธรรม ๗ ประการนั้นคือ ความอยากได้ลาภ ๑ ความอยากได้สักการะ ๑ ความอยากได้ชื่อเสียง ๑ ความไม่มีหิริ ๑ ความไม่มีโอตตัปปะ ๑ ความปรารถนาลามก ๑ ความเห็นผิด ๑ ส่วนภิกษุผู้ไม่อยากได้ลาภ ไม่อยากได้สักการะ ไม่อยากได้ชื่อเสียง เป็นผู้มีหิริ มีโอตตัปปะ มีความมักน้อย มีความเห็นชอบ ย่อมเป็นที่รักใคร่พอใจ ที่เคารพยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ดังนี้

ในพระสูตรที่ ๒ ว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ ย่อมไม่เป็นที่รักใคร่พอใจ ที่เคารพยกย่องของเพื่อพรหมจรรย์ทั้งหลายฯ ธรรม ๗ ประการนั้น คือประการใดบ้าง คือ ความอยากได้ลาภ ๑ ความอยากได้สักการะ ๑ ความอยากได้ชื่อเสียง ๑ ความไม่มีหิริ ๑ ความไม่มีโอตตัปปะ ๑ ความริษยา ๑ ความตระหนี่ ๑ ส่วนภิกษุผู้ไม่อยากด้ลาภ ไม่อยากได้สักการะ ไม่อยากได้ชื่อเสียง เป็นผู้มีหิริ มีโอตตัปปะ ไม่มีความริษยา ไม่มีความตะหนี่ ย่อมเป็นที่รักใคร่พอใจ ที่เคารพยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายดังนี้

ในพระสูตรที่ ๓ ว่า กำลังมีอยู่ ๗ ประการ คือ กำลังศรัทธา ๑ กำลังวิริยะ ๑ กำลังหิริ ๑ กำลังโอตตัปปะ ๑ กำลังสติ ๑ กำลังสมาธิ ๑ กำลังปัญญา ๑ ในพระสูตรนี้มีเนื้องความในคาถาว่า ภิกษุผู้มีกำลังทั้ง ๗ นี้ย่อมอยู่สบาย ย่อมค้นคว้าธรรมด้วยอุบาย ย่อมเห็นแจ้งอรรถด้วยปัญญา ย่อมสำเร็จนิพพาน ดังนี้

ในพระสูตรที่ ๔ ว่า กำลังมีอยู่ ๗ ประการ คือ กำลังศรัทธา๑ กำลังวิริยะ ๑ กำลังหิริ ๑ กำลังโอตตัปปะ ๑ กำลังสติ ๑ กำลังสมาธิ ๑ กำลังปัญญา ๑ ฯ กำลังศรัทธานั้นได้แก่ความไม่เชื่อถือ ซึ่งความตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้าว่า อิติปิโส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควา ดังนี้ฯ กำลังวิริยะนั้น ได้แก่การมีความเพียร เพื่อละอกุศลธรรมเพื่อทำให้เกิดกุศลธรรม มีความแข็งแรง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลายฯ กำลังหิรินั้น ได้แก่ความละอายต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ละอายในการทำสิ่งที่เป็นบาปอกุศลฯ กำลังโอตตัปปะนั้น ได้แก่ความกลัวต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ความกลัวต่อการทำสิ่งที่เป็นบาปอกุศลฯ กำลังสตินั้น ได้แก่ความมีสติแก่กล้า สิ่งที่ได้ทำนานแล้ว คำที่ได้พูดนานแล้ว ก็ระลึกได้ฯ กำลังสมาธินั้นได้แก่การสำเร็จฌาน ๔ฯ กำลังปัญญานั้น ได้แก่การมีปัญญาอันรู้จักความเกิด ความดับอันบริสุทธิ์ อันทำลายกิเลส อันทำให้ถึงซึ่งความสิ้นทุกข์โดยชอบฯ ในพระสูตรนี้ มีเนื้อความในคาถาว่า ภิกษุผู้มีกำลัง ๗ ประการนี้ ย่อมอยู่เป็นสุข ย่อมค้นคว้าธรรมด้วยอุบาย ย่อมเห็นแจ้งอรรถด้วยปัญญา ย่อมสำเร็จนิพพาน ดังนี้

อรรถกถา

ในอรรถกถาแห่งพระสูตรนี้ว่า ค้นคว้าธรรมด้วยอุบายนั้น ได้แก่ค้นคว้าสัจธรรมทั้ง ๔ ด้วยอุบายคือด้วยถูกทาง คำว่า เห็นแจ้งอรรถด้วยปัญญานั้น คือเห็นแจ้งสัจธรรมทั้ง ๔ ด้วยมรรคปัญญา พร้อมด้วยวิปัสสนา คำว่า สำเร็จนิพพานนนั้น ได้แก่ความพ้นจากวัตถุและอารมณ์แห่งจิตดวงก่อน มีความไปไม่ปรากฏของผู้สิ้นอาสวะแล้ว ซึ่งประกอบด้วยกำลัง ๗ ประการนี้ เปรียบเหมือนความดับแห่งเปลวไฟ ฉะนั้น ดังนี้

ธัมมัตถาธิบาย

ในอรรถาธิบายว่า กำลังศรัทธานั้น ได้แก่กำลังความเชื่อถือต่อพระพุทธเจ้า

อรหํ พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ คือเป็นผู้ไม่มีกิเลส
สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นผู้รู้คุณวิเศษด้วยตนเอง
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เป็นผู้เต็มเปี่ยมด้วยความรู้ ความประพฤติ
สุคโต เป็นผู้มีคติดี
โลกวิทู เป็นผู้รู้แจ้งโลก
อนุตฺตโร ปริสทมฺมสารถิ เป็นผู้ฝึกหัดบุคคลที่ควรฝึกหัดได้อย่างเยี่ยม
สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นผู้สั่งสอนเทพยดามนุษย์ทั้งหลาย
พุทฺโธ เป็นผู้ทำเทพยดามนุษย์ทั้งหลายให้รู้ของจริง
ภควา เป็นผู้แจกความรู้ได้แก่เทพยดามนุษย์ทั้งหลาย ดังนี้

ความเชื่อถืออย่างนี้แหละเป็นรากเหง้าแห่งการกระทำตามคำสั่งสอนทั้งสิ้นของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่มีความเชื่อถือย่างนี้ก่อนแล้ว ก็ไม่มีการทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จะให้สำเร็จมรรค ผล นิพพาน ข้อนี้มีพระปัญจวัคคีย์เป็นอุทาหรณ์ คือ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพวกปัญจวัคคีย์ ในเวลาตรัสรู้แล้วใหม่ๆ นั้น พวกปัญจวัคคีย์ไม่เชื่อถือว่า พระพุทธเจ้าจะเป็นผู้วิเศษจริง เวลาพระพุทธเจ้าตรัสบอกว่ เราได้สำเร็จสิ่งที่ไม่ตายแล้ว เธอทั้งหลายจงตั้งใจฟัง พวกปัญจวัคคีย์ก็คัดค้านขึ้นว่า เมื่อพระองค์ท่านยังบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่ ก็ยังไม่สำเร็จคุณวิเศษได้ เมื่อพระองค์ท่านเลิกทุกกรกิริยเสียแล้ว จะได้สำเร็จคุณวิเศษอย่างไร พระพุทธองค์ก็ยังทรงยืนคำอยู่ว่า เราได้สำเร็จสิ่งที่ไม่ตายแล้ว เธอทั้งหลายจงตั้งใจฟัง ดังนี้ อีกเป็นที่ที่ ๒ ที่ ๓ พวกปัญจวัคคีย์ก็คัดค้านอย่างนั้นอีก พระพุทธเองค์จึงทรงย้อนถามว่า คำพูดอย่างนี้ เราได้เคยพูดมาแล้วหรือไม่ เมื่อพวกปัญจวัคคีย์ระลึกได้ว่า ยังไม่เคยพูดเลย จึงน้อใจเชื่อ แล้วพระพุทธองค์จึงได้ทรงแสดงพระธรรมจักรให้ฟัง พวกปัญจวัคคีย์ก็ตั้งใจฟัง ก็ได้สำเร็จมรรคผลตามสมควรแก่บารมีของตน

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปโปรดพวกคณาจารย์ใหญ่ทั้ง ๓ ที่เรียกว่าพวกชฎิลฤาษี ๓ พี่น้อง ซึ่งมีบริวารตั้งพัน ในเวลาออกพรรษแรกนั้น พระองค์ก็ได้ทรงแสดงปาฏิหาริย์เป็นอันมาก จนพวกนั้นเกิดความเชื่อถือว่ พระองค์เป็นพระอรหันต์จริง จึงได้ตั้งใจฟังคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ แล้วจึงได้สำเร็จมรรค ผล นิพพาน เวลาพระองค์โปรดพวกชฏิลฤาษีทั้งพันคนให้สำเร็จมรรค ผล นิพพาน ให้บวชเป็นภิกษุได้แล้วก็พาเสด็จไปที่กรุงราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งป็นเจ้ากรุงราชคฤห์พร้อมด้วยพราหมณ์และคฤหบดี ถึง ๑ แสน ๒ หมื่น ได้ออกไปเฝ้าที่พระราชอุทยานสวนตาลหนุ่ม พวกพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลายก็ยังไม่เชื่อถือว่า พระพุทธเจ้าจะเป็นผู้ประเสริฐกว่าพวกชฎิลฤาษี หรือพวกชฎิลฤาษีจะเป็นผู้ประเสริฐกว่าพระพุทธเจ้า อย่างไร ในขณะนั้นพระพุทธเจ้าก็ทรงรู้จักวารจิตของพวกนั้น จึงตรัสถามเป็นอุบายให้ภิกษุที่เป็นหัวหน้าชฎิลฤาษี คือพระอุรุเวลกัสสป ประกาศตนว่าเป็นศิษย์สาวกของพระองค์ จนคนทั้งหลายลงความเห็นเชื่อถือว่า พระองค์เป็นผู้ประเสริฐกว่าพวกชฎิลฤาษีเหล่านั้นแล้ว พระองค์จึงได้ทรงแสดงธรรมโปรด เพราะฉะนั้นจึงว่า กำลังศรัทธา เป็นรากเหง้าแห่งการทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น

อีกอย่างหนึ่งว่า ที่พระพุทธองค์ทรงยกกำลังศรัทธา ขึ้นเป็นข้อแรกนั้น ก็เพราะกำลังศรัทธา เป็นรากเหง้าแห่งกำลังทั้งปวง เมื่อมีกำลังศรัทธานั้นแล้ว จึงจะมีกำลังข้ออื่นต่อไป ฯ คำว่า กำลังศรัทธานี้ ให้ผู้ฟังทั้งหลาย จำไว้ให้แน่ว่า ได้แก่กำลังความเชื่อถือต่อความรู้ ความดีของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น ฯ คำว่า กำลังวิริยะนั้น ให้จำไว้ว่า ได้แก่กำลังความเพียรในทางที่ชอบ คือ เพียรละบาปอกุศล เพียรทำให้เกิดบุญกุศลเท่านั้น ไม่ใช่ความเพียรอย่างอื่น ฯ คำว่า กำลังหิรินั้นได้แก่กำลังความละอาย ต่อการกระทำชั่วด้วยกาย วาจา ใจ เวลาจะกระทำชั่วด้วย กาย วาจา ใจ แล้วนึกละอายว่า ไม่สมควรแก่เราฯ กำลังโอตตัปปะนั้น ได้แก่กำลังความกลัว สิ่งที่เป็นบาปอกุศล ทุจริต ไม่กล้าทำบาปอกุศลทุจริตฯ กำลังสตินั้น ได้แก่กำลังความระลึกได้ ซึ่งสิ่งที่ได้ทำ คำที่ได้พูดไว้นานแล้วฯ กำลังสมาธินั้น ได้แก่กำลังฌานทั้ง ๔ ฯ กำลังปัญญานั้น ได้แก่กำลังวิปัสสนาปัญญา คือปัญญาอันเห็นแจ้ง ซึ่งความเกิดความดับแห่งสังขารทั้งปวง เป็นปัญญาอริยะ คือ ปัญญาบริสุทธิ์ เป็นปัญญาทำลายกิเลส เป็นปัญญาทำให้สิ้นทุกข์โดยชอบ ไม่ใช่ปัญญาอย่างอื่น เพราะปัญญามีหลายอย่าง ที่เรียกว่าเป็นกำลังในที่นี้ หมายปัญญาที่ทำให้สิ้นกิเลส ปัญญาอันใดจะทำให้สิ้นกิเลส ปัญญาอันนั้นแหละ เรียกว่าปัญญาในที่นี้ฯ ผู้ที่จะทำให้สำเร็จนิพพาน ต้องมีกำลัง ๗ ประการนี้บริบูรณ์ จึงจะสำเร็จนิพพานได้ถ้าขาดแต่ข้อใดข้อหนึ่ง ก็สำเร็จนิพพานไม่ได้ เพราะนิพพานเป็นของประเสริฐสูงสุด เพราะว่าเป็นของไม่มีทุกข์ภัยอันใด มีแต่ความสุขอย่างเดียว สิ่งที่มีความสุขอย่างเดียว ย่อมเป็นของประเสริฐสูงสุด การที่จะได้ของประเสริฐสูงสุด ต้องเป็นของได้ยากอย่างยิ่ง เพียงแต่ทรัพย์ซึ่งให้เกิดความสุขชั่วคราวเท่านั้น ก็ยังเป็นของได้ยากอยู่แล้ว ผู้ที่จะได้ทรัพย์ ต้องประกอบด้วยกำลัง ๒ คือกำลังความหมั่น ๑ กำลังความทำให้เหมาะแก่ทางที่จะได้ทรัพย์ ๑ เมื่อรู้จักทางที่จะได้ทรัพย์แล้ว ต้องหมั่นทำในทางนั้น จึงจะได้ทรัพย์ เพียงแต่ทรัพย์เท่านี้ ก็ได้กันยากอยู่แล้ว ส่วนนิพพานซึ่งสูงทรัพย์จนไม่มีที่เปรียบ ก็ย่อมได้ยากยิ่งเป็นธรรมดา

เพราะฉะนั้น ผู้ต้องการนิพพาน จึงควรสะสมกำลัง ๗ ประการ คือกำลังศรัทธา กำลังวิริยะ กำลังหิริ กำลังโอตตัปปะ กำลังสติ กำลังสมาธิ กำลังปัญญา ดังที่ว่าแล้วนั้น ไว้ให้บริบูรณ์ในใจของตนก็จักได้สำเร็จนิพพานดังประสงค์ ถึงไม่ได้ในชาตินี้ ก็จัดได้ในชาติหน้า ไม่ได้ในชาติหน้า ก็จักได้ในชาติโน้น อย่างไรก็จักต้องได้เป็นแน่นอน เพราะฉะนั้น ควรที่ผู้ต้องการนิพพานทั้งหลาย จะอนุสรณ์คำนึงนึกถึงกำลัง ๗ ประการนี้อยู่เสมอว่า ข้อใดมีอยู่ในใจของเราหรือไม่มี เมื่อเห็นว่าไม่มีก็ต้องทำให้มีขึ้น เมื่อเห็นว่ามีอยู่แล้ว ก็รักษาให้คงไว้แล้วพยายามทำให้ภิกษุทั้งหลายฟังไว้ว่า ทรัพย์มีอยู่ ๗ ประการ คือ ทรัพย์อันได้แก่ศรัทธา ๑ ทรัพย์อันได้แก่ศีล ๑ ทรัพย์อันได้แก่หิริ ๑ ทรัพย์อันได้แก่โอตตัปปะ ๑ ทรัพย์อันได้แก่การสดับฟัง ๑ ทรัพย์อันได้แก่การสละ ๑ มีเนื้อความว่าสตรีใด หรือบุรุษใด มีทรัพย์ทั้ง ๗ นี้อยู่ ผู้มีความรู้ทั้งหลายกล่าวว่าสตรีนั้น บุรุษนั้น ไม่ขัดสน ไม่มีชีวิตเป็นหมัน เพราะฉะนั้น ผู้มีความคิดดี ผู้ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าควรประกอบเนืองๆ ซึ่งศรัทธาศีล ความเลื่อมใส การเห็นธรรม ดังนี้

ในพระสูตรที่ ๖ ว่า พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ว่า มีทรัพย์อยู่ ๗ ประการ คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา แล้วทรงอธิบายทรัพย์ทั้ง ๗ นี้ไว้ว่า ข้อไหนได้แก่สิ่งใด คือ ทรงอธิบายไว้ว่า ทรัพย์คือศรัทธานั้น ได้แก่ความเชื่อถือซึ่งความตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้า อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถี สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควา ดังนี้ฯ ทรัพย์คือศีลนั้น ทรงอธิบายไว้ว่า ได้แก่การงดเว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท สุรมาเมรัยฯ ทรัพย์ คือหิรินั้น ทรงอธิบายไว้ว่า ได้แก่ความละอายต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ความละอายต่อการกระทำสิ่งที่เป็นบาปอกุศลทั้งหลาย ฯ ทรัพย์ คือ โอตตัปปะนั้น ทรงอธิบายไว้ว่า ได้แก่ความสะดุ้งกลัวต่อการทำที่เป็นบาปอกุศลทั้งหลายฯ ทรัพย์คือสุตะนั้น ทรงอธิบายไว้ว่า ได้แก่การฟัง การจำ การท่องบ่น การเพ่ง การตีใจความ ซึ่งธรรมที่ดีในเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด ที่ประกาศพรหมจรรย์ อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถพยัญชนะฯ ทรัพย์คือการสละนั้น ทรงอธิบายไว้ว่า ได้แก่การจำแนกแจกทาน ฯ ทรัพย์คือปัญญานั้น ทรงอธิบายไว้ว่า ได้แก่ปัญญาอันให้ถึงซึ่งความเกิดดับแห่งสังขารทั้งปวง อันเป็นปัญญาบริสุทธิ์ เป็นปัญญาทำลายกิเลส เป็นปัญญาทำให้สิ้นทุกข์โดยชอบ ครั้นทรงแสดงอย่างนี้แล้ว ก็ได้ทรงแสดงเป็นพระคาถา เหมือนกับในพระสูตรที่แล้วมา ดังนี้สิ้นเนื้อความในเทศนากัณฑ์นี้เพียงเท่านี้. เอวํ ก็มี ด้วยประการฉะนี้ฯ